ชาวบ้านทั่วสารทิศในจังหวัดกาฬสินธุ์ แห่เก็บของเห็ดเผาะและของป่าที่เริ่มเกิดขึ้นในบริเวณป่าดงระแนง หลังฝนแรกได้ตกลงมา โดยชาวบ้านระบุว่าเห็ดเผาะเป็นอาหารป่าที่เกิดเฉพาะในช่วงต้นฤดูฝนและเป็นของหายาก ประกอบอาหารได้หลายเมนู เป็นที่นิยมของนักเปิบอาหารพื้นบ้านเป็นอย่างมาก เนื่องจาก 1 ปีมีครั้งเดียว โดยเฉพาะเห็ดเผาะจากดงระแนงรสชาติอร่อยกว่าที่อื่น
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณถนนสายปากทาง-เขื่อนลำปาว พื้นที่ติดต่อ ต.บัวบาน-ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งตัดผ่านป่าสงวนแห่งชาติดงระแนง ชาวบ้านจำนวนมากมาก ต่างนำอุปกรณ์เก็บเห็ด เช่น ตะกร้า เสียม มือเสือที่ทำจากเหล็ก สำหรับขูดไปตามพื้นดินเพื่อหาเห็ดเผาะที่ฝังอยู่ใต้ผิวดิน ทั้งนี้ จากการสอบถามทราบว่าเดินมาจากหลายพื้นที่ เช่น อ.ห้วยเม็ก อ.เมือง อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ และ อ.เชียงยืน อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ทำให้ป่าดงระแนงมีชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้
นายบัวศรี หินศิลา อายุ 58 ปี บ้านเลขที่ 17 บ้านคำเจริญ ต.เว่อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เห็ดเผาะเป็นอาหารประจำฤดูกาล ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยจะเกิดในช่วงฝนแรกหรือเริ่มต้นฤดูฝน ทั้งนี้ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงระแนง ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 1 หมื่นไร่ ติดแนวเขตหลายตำบลในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.ยางตลาดกับ อ.ห้วยเม็ก อย่างไรก็ตามพื้นที่บริเวณนี้เพิ่งจะมีฝนตกลงมา ทำให้ผิวดินมีความชุ่มชื้นและอุณหภูมิพอเหมาะ ก็จะมีเห็ดเผาะเกิดขึ้นทั่วไปในบริเวณป่าดงระแนง ซึ่งตนกับเพื่อนบ้านก็จะพากันมาเก็บเป็นประจำทุกปี โดยเห็ดเผาะที่เก็บได้ก็จะนำไปประกอบอาหารกินในครัวเรือน และปรุงเป็นอาหารได้หลายเมนู เช่น แกง นึ่ง ปิ้ง ป่น ซุบ และหมก ซึ่งให้รสชาติหอม นุ่ม กรอบ มัน โดยเล่าลือกันว่าเห็ดเผาะที่เก็บจากป่าดงระแนงนี้ รสชาติดีกว่าเห็ดเผาะจากป่าอื่นทีเดียว ทั้งนี้คิดว่ามีผลจากสภาพดินและความอุดมสมบูรณ์ของป่า
นายบัวศรี กล่าวอีกว่า เห็ดเผาะมีลักษณะเป็นก้อนไข่กลมๆ สีขาว ขนาดตั้งแต่ปลายนิ้วก้อยถึงหัวแม่มือ มี 2 ชนิด คือเห็ดเผาะฝ้ายกับเห็ดเผาะหนัง โดยเห็ดเผาะฝ้ายผิวไม่ค่อยเรียบ เนื้อแข็ง พอปรุงสุกจะกรุบกรอบ รสชาติค่อนข้างจาง ขณะที่เห็ดเผาะหนัง ผิวเรียบ เนื้อแน่น มีกลิ่นหอม เวลาปรุงสุกและขบเคี้ยวจะรู้สึกนุ่ม เต็มปาก เห็ดเผาะหนังจึงเป็นที่นิยมของนักเปิบมากกว่าเห็ดเผาะฝ้าย ทั้งนี้ นอกจากฝนแรกจะทำให้เกิดเห็ดเผาะขึ้นตามธรรมชาติแล้ว ยังมีอาหารป่าเกิดขึ้นหลายชนิด เช่น แมงกอก แมงจินูน ผักหวานป่า หน่อไม้ เป็นต้น ซึ่งชาวบ้านจะพากันมาหาเก็บไปรับประทาน มีทั้งมากันเป็นครอบครัว บางหมู่บ้านเหมารถมาเป็นคณะกันเลยทีเดียว เห็ดเผาะและอาหารป่า ซึ่งเป็นผลผลิตจากป่าดงระแนง จึงเป็นอาหารพื้นบ้านตามฤดูกาล ที่ชาวบ้านจะเก็บไปรับประทาน และเป็นการประหยัดค่าครองชีพในช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี
ด้านนายนิยม กิตติวงศ์ตระกูล ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การที่ชาวบ้านเข้าไปหาเก็บอาหารป่า ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงระแนง หรือป่าอื่นใดที่ไม่ใช่เขตหวงห้าม สามารถทำได้ ทั้งนี้ เพื่อใช้สอยในครัวเรือน หรือสำหรับเป็นอาหารในครัวเรือน ซึ่งเป็นวิถีชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม การเข้าไปหาอาหารในป่าดังกล่าว ต้องไม่ทำให้ป่าไม้หรือต้นไม้ได้รับความเสียหาย และจะต้องช่วยกันอนุรักษ์ เพื่อให้ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งอาหารชุมชนตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน