ชาวบ้านที่จังหวัดกาฬสินธุ์ผงะ เข้าไปเก็บเห็ดและหาของป่าในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติดงระแนง เขตอำเภอยางตลาด พบมีการบุกรุกและทำการปลูกมันสำปะหลังกลางป่าหลายร้อยไร่ ระบุเป็นพื้นที่ที่ คสช.ทวงคืนจากนายทุนเมื่อปี 2559 และมีการปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูสภาพป่า แต่หลังจาก คสช.กลับไป กลับมีการบุกรุกอย่างไม่เกรงกลัวอำนาจรัฐ ชาวบ้านเห็นแล้วรู้สึกเหมือน “รถถังกลับไปรถไถกลับมา” เรียกร้องฝ่ายปกครองตรวจสอบ พร้อมดำเนินคดีกับผู้บุกรุกอย่างจริงจังเด็ดขาด
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2563 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้ง มีชาวบ้านใน จ.กาฬสินธุ์ หลายอำเภอ ที่เข้าไปเก็บเห็ดในป่าสงวนแห่งชาติดงระแนงและพบเห็นการบุกรุกป่า ได้วิพากษ์วิจารณ์กันมาก เกี่ยวกับการบุกรุกพื้นที่ป่าดังกล่าว ซึ่งอยู่เขตรอยต่อระหว่าง อ.ยางตลาดกับ อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์
โดยระบุว่าป่าสงวนแห่งชาติดงระแนง แต่เดิมมีพื้นที่กว่า 69,375 ไร่ มีเขตติดต่อหลายตำบล คือ ต.ยางตลาด ต.คลองขาม ต.ดอนสมบูรณ์ ต.นาเชือก ต.บัวบาน ต.เขาพระนอน ต.โนนสูง ต.อิตื้อ และ ต.เว่อ อ.ยางตลาด และ ต.กุดโดน ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก ต่อมาถูกบุกรุกกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ทำการจับ จีพีเอส หาพิกัดพื้นที่ จนพบว่า ผืนป่าไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นไร่ได้ถูกนายทุนและชาวบ้านบุกรุก เข้าไปทำการปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ก่อนที่จะทำการทวงคืนในยุค คสช.เมื่อปี 2559 และมีการปลูกต้นไม้ ฟื้นฟูสภาพป่า แต่ปัจจุบัน หลังจาก คสช.กลับไป กลับพบมีการเข้าไปบุกรุกอีก คาดว่าเป็นจำนวนหลายร้อยไร่
นายลำไย ถิ่นแก้ว อายุ 67 ปี บ้านเลขที่ 246 หมู่ 4 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เดิมผืนป่าดงระแนงมีความอุดมสมบูรณ์มาก เป็นแหล่งอาหารชุมชนตลอดปี ซึ่งจะมีประชาชนในหลายอำเภอทั้งใน จ.กาฬสินธุ์และจังหวัดใกล้เคียง เข้ามาหาเก็บของป่าโดยเฉพาะฤดูฝนจะมีเห็ดป่าออกเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากป่าถูกบุกรุกจนกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม โดยมีนายทุนและชาวบ้านในพื้นที่ด้านบนเข้าไปยึดครอง ทำการปลูกมันสำปะหลังและอ้อย จึงเกิดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านล่าง คือในฤดูฝนเกิดน้ำป่าไหลหลาก กัดเซาะถนนขาด น้ำป่าไหลทะลักท่วมบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกรามและพื้นที่การเกษตรใน ต.บัวบาน ได้รับความเสียหาย 3 ปีซ้อน โดยเฉพาะปี 2559 และ 2562 ที่เกิดน้ำป่าท่วมครั้งใหญ่ บ่อกุ้ง และนาข้าวได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
นายลำไยกล่าวอีกว่า ในปี 2559 ซึ่งเป็นยุค คสช.หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทางฝ่ายทหาร ร่วมกับฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ได้สนธิกำลังทวงคืนคืนป่า โดยผลักดันนายทุนและชาวบ้านที่บุกรุกออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นผลสำเร็จ ต่อมามีการปลูกไม้สักทองและต้นไม้โตเร็วหลายประเภท เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าและกำลังจะคืนความอุดมสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง แต่กลายเป็นว่า พอ คสช.หรือฝ่ายทหารถอนกำลังออกไปจากพื้นที่ กลับพบว่ามีการบุกรุกเข้าไปปลูกมันสำปะหลังอีก และส่งผลกระทบให้เกิดน้ำป่าไหลหลากลงมาอีก
นายลำไยกล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านที่เข้าไปหาเก็บเห็ดและของป่า ทุกคนเห็นกับตาตนเองว่าผืนป่าที่ทวงคืนมา และมีการบวชป่าเป็นสัญลักษณ์ รวมทั้งต้นไม้นับหมื่นๆต้น ที่นายทหาร ผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัด ร่วมกับท้องถิ่น ชาวบ้าน ปลูกและกำลังเติบโต สูญงบประมาณดำเนินการไปไม่ใช่น้อยๆ นั้น ถึงวันนี้ได้กลายไปเป็นแปลงปลูกมันสำปะหลังอีกแล้ว ซึ่งปัญหาที่จะตามมาคือน้ำป่า ซึ่งบ้านและบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกรามของตน ที่อยู่บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน ถือเป็นด่านแรกที่จะเผชิญกับน้ำป่า อย่างวันนี้ที่ฝนเพิ่งฝนตกลงมาก็มีน้ำป่าไหลลงมาแล้ว นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายให้กับถนนเข้าหมู่บ้าน และคอสะพานเกิดความเสียหายอีกด้วย
“ชาวบ้านที่ไปเก็บเห็ดและหาของป่า หลายคนยืนยันว่าพบการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติดงระแนงจริง ซึ่งได้เข้าไปบุกรุกตรงบริเวณที่ได้ไปร่วมกิจกรรมปลูกป่ากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในปี 2559 แต่ถึงปี 2563 กลับถูกบุกรุกทำลายอีก พฤติกรรมเหมือนรถถังกลับไปรถไถกลับมา ซึ่งเท่ากับว่านายทุนหรือชาวบ้านกลุ่มนั้นไม่เกรงกลัวอำนาจรัฐ อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ตนเป็นชาวบ้าน ที่รู้สึกหวงแหนผืนป่า และได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลาก ทั้งนี้ตนและชาวบ้านเสียดายความตั้งใจของรัฐบาล คสช.ที่ทำการทวงคืนผืนป่าให้แผ่นดิน และเพื่อเป็นสาธารณะสมบัติให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ยังเสียดายงบประมาณที่รัฐใช้จ่ายไปในการทวงคืนผืนป่าและปลูกป่า สุดท้ายไม่ได้อะไร แถมอาจจะถูกนายทุนเย้ยหยามว่ากฎหมายอ่อนแอ จึงขอเรียกร้องเจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก พร้อมทำการผลักดันและดำเนินคดีอย่างจริงจังเด็ดขาดกับผู้ที่บุกรุกด้วย ก่อนที่ฝนจะตกชุกและเกิดน้ำป่าไหลหลากอีก” นายลำไยกล่าวในที่สุด