ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์จัดงานวันรพี ประจำปี 2563 เพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ที่ศาล จ.กาฬสินธุ์ นางอารีย์ โรจน์วัฒนบูลย์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จ.กาฬสินธุ์เป็นประธานจัดงานวันรพี ประจำปี 2563 ซึ่งศาล จ.กาฬสินธุ์จัดขึ้น เพื่อน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย โดยมีนายชัยธวัช เนียมศิริ ผวจ.กาฬสินธุ์ พล.ต.ต.สมนึก มิควาฬ ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ นายพีระพงษ์ เที่ยงตรง ผอ.ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ นายพูลศักดิ์ นามเพ็ง หัวหน้าส่วนช่วยอำนวยการศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยคณะผู้พิพากษา หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรม สภาทนายความ คณะผู้ประนีประนอมฯ และคณะผู้พิพากษาสมทบ ประจำศาล จ.กาฬสินธุ์ ร่วมพิธี โดยทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทานแด่พระภิกษุสงฆ์ ร่วมกันวางพวงมาลา และถวายเครื่องราชสักการะ ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์
จากนั้นนางอารีย์ โรจน์วัฒนบูลย์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จ.กาฬสินธุ์ ได้นำกล่าวสดุดีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูประบบการศาลไทย และก่อตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของนักกฎหมายที่ดี ทรงจัดการแก้ไข และวางระเบียบการ ในกระทรวงให้ดียิ่งขึ้น เช่นทรงแก้ไขระเบียบการของหอทะเบียนที่ดินทั่วพระราชอาณาจักร ทรงทำนุบำรุงการเกษตร โดยเฉพาะเรื่องการชลประทาน และการทดน้ำ พระองค์ได้ทรงปฏิบัติราชการสำคัญอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนอย่างยิ่ง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2462 ทรงประชวรด้วยวัณโรคที่พระวักกะ (ไต) จึงได้ทรงไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2463 ได้ทรงสิ้นพระชนม์ เมื่อพระชนมายุเพียง 47 พรรษา
จากการที่ได้ทรงทุ่มเทพพระวรกาย ศึกษาวิชาการทางกฎหมาย และทรงทำให้ระบบกฎหมาย และศาลยุติธรรม ของประเทศไทยเจริญก้าวหน้า ทัดเทียมกับอารยประเทศทั้งปวงนี้เอง ทำให้ประชาชน ต่างขนานพระนามว่าพระบิดาแห่งกฎหมายไทย และกำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์เป็นวันรพี เพื่อให้นักกฎหมาย ได้มีโอกาสแสดงความระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ด้วยการวางพวงมาลาและบำเพ็ญกุศลร่วมกัน ตลอดจนการจัดกิจกรรมทางกฎหมาย เพื่อเผยแพร่ วิชาการกฎหมายให้กว้างขวางสู่ประชาชน สมดังพระประสงค์ที่ต้องการให้นักกฎหมายมีบทบาทในการพัฒนาประเทศ โดยพัฒนากฎหมายให้ก้าวหน้า เหมาะสมแก่สภาพสังคม ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย และใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชนจนถึงปัจจุบัน