โรงพยาบาลกาฬสินธุ์เปิดห้องปฏิบัติการอณูชีวโมเลกุลหรือห้องตรวจเชื้อโควิด-19 รู้ผลภายใน 4 ชั่วโมง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการ ควบคุมป้องกันและโรคติดเชื้ออย่างทั่วถึง
เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 31 สิงหาคม 2563 นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ นพ.ธนสิทธิ์ ไพรพงษ์ รองผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ นายยงยุทธ หล่อตระกูล นายกอบจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ร่วมกับทำพิธีเปิดห้องปฏิบัติการอณูชีวโมเลกุล หรือห้องตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ของโรงพยาบาลกาฬสินธุ์
นพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด- 19 ในหลายประเทศทั่วโลก กระทั่งองค์การอนามัยโลกประกาศการระบาดใหญ่ เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากและรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน สำหรับในช่วงที่ผ่านมา จ.กาฬสินธุ์พบการติดเชื้อ จำนวน 3 ราย และได้รับการรักษาหายขาดเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันจากการเฝ้าระวังและควบคุมโรคตามมาตรการต่าง ๆ ยังไม่พบการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
นพ.ประมวล กล่าวอีกว่า จากเหตุการณ์และสถานการณ์ที่ผ่านมาโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ตลอดจนการค้นหาผู้ติดเชื้อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพการป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก อบจ.กาฬสินธุ์ จัดทำห้องปฏิบัติการอณูวิทยา หรือห้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อให้ประชาชน จ.กาฬสินธุ์ได้เข้าถึงบริการ ควบคุมป้องกัน โรคติดเชื้อ และโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ และให้การบริการด้านการรักษาพยาบาลโรคติดเชื้อ และโรคอุบัติใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรองเชิงรุกประชาชนได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งเป็นการพัฒนาศักยภาพในการตรวจวินิจฉัยโรคที่มีความสำคัญ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคเอดส์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้แล้วเสร็จ และมีความพร้อมในการให้บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ด้านนายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันประเทศไทยยังมีความเสี่ยงที่จะพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีความเสี่ยง มาตรการการควบคุม เช่น พื้นที่กักกันโรคของรัฐ (state quarantine) หรือการกักกันในรูปแบบต่าง ๆยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการ การค้นหาผู้ติดเชื้อต้องดำเนินการให้ได้ผลอย่างรวดเร็ว ทันเวลา ทันต่อสถานการณ์
ทั้งนี้ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ก็เช่นกันยังคงมีการกำชับการ์ดอย่าตก มีมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น ซึ่งการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการอณูชีวโมเลกุล (PCR) ของโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ครั้งนี้เป็นวิธีตรวจที่เป็นมาตรฐานที่ WHO กำหนดให้ใช้ในการค้นหาผู้ติดเชื้อ ซึ่งมีความไวและความจำเพาะสูง ซึ่งการที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ได้เปิดให้บริการตรวจทางอณูชีวโมเลกุล ในครั้งนี้จะทำให้แพทย์ที่ทำการวินิจฉัยโรคของผู้ป่วย ได้อย่างหลากหลาย มีความแม่นยำมากขึ้น และทราบผลภายใน 4 ชั่วโมง ตลอดจนประชาชนสามารถเข้าถึงการให้บริการที่ได้จากการตรวจทาง PCR ไม่จำเพาะต่อ COVID-19 อย่างเดียว