กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าไหมแพรวาบ้านหนองช้าง และกลุ่มทอผ้าไหมแพรวาบ้านหนองแก่นทราย ตำบลหนองช้าง อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ขับเคลื่อนพลังบวร “บ้าน วัด โรงเรียน” เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยแนวทาง 4 ดี และสู่เส้นทางตำนานมรดกวัฒนธรรมท่องเที่ยววิถีไท
วันที่ 22 กันยายน 2563 ที่บ้านหนองช้าง หมู่ 3 ต.หนองช้าง อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าไหมแพรวาบ้านหนองช้าง ช่วยกันเก็บใบหม่อน ให้อาหารตัวไหม สาวไหม กรอไหม ย้อมสีไหมด้วยวัสดุธรรมชาติ ทอผ้าไหม และนำผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมาจัดแสดง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สื่อถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวภูไทหนองช้าง ที่สืบสานมานานหลายชั่วอายุ โดยมีนายเฉลิมเกียรติ ตัลวัน พัฒนาการ อ.สามชัย และนายศุภชยกร กาละมุล พัฒนาการประจำตำบลหนองช้าง เป็นที่ปรึกษา และให้การส่งเสริมทั้งกระบวนการผลิต การแปรรูป และการตลาด
นางประกอบ ปัญจิต สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าไหมแพรวาบ้านหนองช้าง กล่าวว่า กิจกรรมทอผ้าไหมของกลุ่มเรา ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษของชาวภูไท โดยมีการสืบสานจากรุ่นสู่รุ่น ควบคู่กับการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชนเผ่าภูไท ทั้งในส่วนของเครื่องแต่งกาย อาหาร ภาษา และขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ในการส่งเสริมการผลิต การตลาด
นางประกอบกล่าวอีกว่า เอกลักษณ์ของเราคือผลิตเองทั้งหมด ทั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ คือเริ่มตั้งแต่ปลูกหม่อน เพาะเลี้ยงตัวไหม สาวไหม กรอไหม ย้อมสีด้วยวัสดุธรรมชาติ เช่น ครั่ง แก่นไม้ ซึ่งติดทนนาน ช่วยขับสีไหมให้เป็นมันวาว คงทน ตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า สไบ สวยงาม ปัจจุบันมีสมาชิก 73 ครัวเรือน โดยยึดเป็นอาชีพหลัก หลังว่างเว้นจากการทำนา ทำให้มีรายได้ตลอดปี นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวา เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง คือกลุ่มทอผ้าไหมแพรวาบ้านหนองแก่นทราย หมู่ 5 ต.หนองช้าง รวมทั้งกลุ่มทอผ้าไหมแพรวาและแปรรูปผ้าไหมแพรวาบ้านโพน อ.คำม่วง อีกด้วย
ด้านพระครูโอภาสโพธินันท์ เจ้าคณะตำบลหนองช้าง เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีสว่างหนองช้าง กล่าวว่า จุดแข็งของชุมชนหนองช้างคือความสามัคคี มีความเคารพในระบบอาวุโส ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม ที่ผ่านมาได้ร่วมกับผู้นำชุมชน สถานศึกษา ขับเคลื่อนพลังบวร “บ้าน วัด โรงเรียน” โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางขับเคลื่อน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ เข้ามาเติมเต็ม เป็นหมู่บ้านชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถีของดีบ้านฉัน กระทั่งเกิดการพัฒนาต่อยอด สู่เส้นทางตำนานมรดกวัฒนธรรมท่องเที่ยววิถีไท
พระครูโอภาสโพธินันท์กล่าวอีกว่า เครื่องมือที่จะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน นั้น ได้กำหนดแนวทาง 4 ดี คือ ดีตัวที่หนึ่งคือดรีม (Dreem) หรือฝัน หมายถึงการที่เรามีความใฝ่ฝันว่าอยากจะให้ชุมชนเราเดินไปในทิศทางใด อย่างใด จากนั้นก็กระจายมาเป็นดีตัวที่สองคือดีไซน์ (Design) หรือการออกแบบ ขั้นตอนดำเนินการ จากนั้นก็มาเป็นดีตัวที่สามคือดู (Do) คือการลงมือทำด้วยกัน หลังจากนั้นก็จะเป็นดีตัวที่สี่คือ ดีเวลลอปเมนท์ (Devellopment) คือมีการพัฒนาปรับปรุง เพื่อได้ในสิ่งที่ดีขึ้น
“เมื่อกำหนดแนวทาง 4 ดีไว้ชัดเจนแล้ว ก็เชิญชวนทุกภาคส่วน ทุกกลุ่มวัยในชุมชน เข้า มามีส่วนร่วม ซึ่งเมื่อทุกคนเข้าถึงหลักการแล้วก็มีความเข้าใจ มีการร่วมด้วยช่วยกันทุกกิจกรรม ทำให้ชุมชนหนองช้าง รวมถึงชุมชนใกล้เคียง เช่น บ้านหนองแก่นทราย หมู่ 5 ต.หนองช้าง มีความเข้มแข็ง ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมประเพณี ถือเป็นต้นแบบของชุมชนคุณธรรม ที่ขับเคลื่อนพลังบวร “บ้าน วัด โรงเรียน” สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยแนวทาง 4 ดี ทั้งนี้ ยังยึดมั่นในหลักความสามัคคี สืบสานภูมิปัญญาทอผ้าไหม และอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีชาวภูไท กลายเป็นหมู่บ้านชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถีของดีบ้านฉัน กระทั่งเกิดการพัฒนาต่อยอด สู่เส้นทางตำนานมรดกวัฒนธรรมท่องเที่ยววิถีไทดังกล่าว” พระครูโอภาสโพธินันท์กล่าวในที่สุด