ชาวนาที่จังหวัดกาฬสินธุ์สุดช้ำ นำข้าวเปลือกไปขายได้ราคาตกต่ำ เพียงกิโลกรัมละ 6 บาท หักต้นทุนการผลิตขาดทุนยับ วอนรัฐบาลช่วยเหลือด่วน ด้านผู้ประกอบการรับซื้อข้าวเปลือกเผย สาเหตุเกิดจากข้าวเวียดนามทะลักเข้าไทย ฉุดราคาข้าวเปลือกตกต่ำสุดในรอบหลายปี แนะชาวนาชะลอการขายไว้ก่อน พร้อมเรียกร้องภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสกัด “ข้าวเหงียน” ตีตลาดข้าวไทย
วันที่ 14 ตุลาคม 2563 จากการติดตามบรรยากาศการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี และตลาดรับซื้อข้าวเปลือกที่ จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงเริ่มต้นฤดูเก็บเกี่ยว พบว่าชาวนาในกลุ่มผู้ปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ กข 22 ซึ่งเป็นข้าวอายุสั้น 120 วันเก็บเกี่ยว ต่างทยอยกันเก็บเกี่ยวกันแล้ว ขณะเดียวกันกลับรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง ต่างจากทุกๆปีที่ผ่านมา ที่เก็บเกี่ยวข้าวด้วยความดีใจ ขณะเดียวกันที่ตลาดรับซื้อข้าวเปลือกก็เงียบเหงา ไม่คึกคักอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ จากการสอบถามชาวนาและผู้ประกอบการรับซื้อข้าวเปลือกทราบว่า เป็นผลพวงมาจากราคาข้าวตกต่ำ และมีแนวโน้มตกต่ำลงเรื่อยๆ หากรัฐบาลไม่ยื่นมือเข้ามาพยุงราคา หรือมีมาตรการช่วยเหลือ เนื่องจากราคารับซื้อเพียงตันละ 6,000 บาท หรือกิโลกรมละ 6 บาทเท่านั้น
นายคำ ภูยี่หวา อายุ 65 ปี ตัวแทนชาวนาแปลงใหญ่ เลขที่ 189 หมู่ 1 บ้านนาเชือก ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ราคารับซื้อข้าวเปลือกปีนี้ เรียกได้ว่าตกต่ำสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา จากการสอบถามแหล่งรับซื้ออ้างว่าเป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากมีข้าวเปลือกและข้าวสารจากประเทศเวียดนามเข้ามาตีตลาดขาวไทย และเป็นในลักษณะของการลักลอบเข้ามา ซึ่งถือว่าเป็นการนำเข้าที่ผิดกฎหมาย ทั้งนี้มีกระแสมาว่าเริ่มเข้ามาตั้งแต่ปี 2562 จึงส่งผลให้พ่อค้านายทุนรับซื้อ และนำมาผสมกับข้าวไทยจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป
นายคำ กล่าวอีกว่า ตามปกติทุกปีที่ผ่านมาในช่วงนี้จะขายข้าวเปลือกเหนียวในราคาตันละ 10,000-12,000 บาท หรือกิโลกรัมละ 10-12 บาท แต่ปีนี้ราคากลับต่ำลงถึงตันละ 6,000 บาท รายได้จากการขายข้าวจึงหายไปครึ่งต่อครึ่ง เมื่อราคาข้าวตกต่ำดังทำให้ชาวนาก็เดือดร้อนมาก เพราะหักต้นทุนการผลิตแล้วก็ขาดทุนยับเยิน เนื่องจากต้นทุนต่อไปไร่ทั้งค่าเมล็ดพันธุ์ ค่ารถไถ ค่าปุ๋ย ค่าเก็บเกี่ยว ค่าขนส่ง ค่าแรง รวมแล้วสูงถึงไร่ละ 4,000 บาท หากผลผลิตได้ไร่ละ 400-500 กิโลกรัมก็จะขายข้าวได้ไร่ละ 2,400-3,000 บาท ซึ่งขาดทุน หรือหากได้ผลผลิตดีหน่อยไร่ละ 600 กิโลกรัมก็ยังไม่ขาดทุนอยู่ดี นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มจะลดต่ำลงเรื่อยๆ แล้วอย่างนี้ชาวนาจะอยู่ได้อย่างไร จะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายค่าปุ๋ยและใช้หนี้ ธกส. จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรีบหามาตรการแก้ไขปัญหาและสกัดกั้นไม่ให้ข้าวเวียดนามเข้ามาตีตลาดข้าวไทยด้วย เพราะตอนนี้ชาวนาเดือดร้อนจากราคาข้าวตกต่ำมาก
ด้านนายธนาพล ธรรมโนขจิต ผู้จัดการตลาดกลางข้าวและพืชไร่ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า กระแสข้าวเวียดนามลักลอบมาจำหน่ายในเมืองไทยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 และเริ่มขยายตลาดกว้างขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อวงการข้าวไทยที่เคยราคาสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 20 บาท ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาถึงเดือนเมษายน 2563 เนื่องจากเกิดสถานการณ์ฝนแล้งในหลายพื้นที่ ขณะที่พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ยังสามารถผลิตข้าวได้ตามปกติ โดยอาศัยน้ำจากชลประทานลำปาว ทั้งนี้ราคาเริ่มร่วงลงมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 จากที่เคยรับซื้อตันละ 1,200 บาท หรือกิโลกรัมละ 12 บาท ก็ลดต่ำลงเรื่อยๆเหลือตันละ 6,000 บาทหรือกิโลกรัมละ 6 บาท
นายธนาพล กล่าวอีกว่า สำหรับราคารับซื้อข้าวเปลือกตามแหล่งรับซื้อทั่วไปในช่วงนี้ ถือว่าผิดปกติจากทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งแต่เดิมพอเริ่มเปิดตลาดราคารับซื้อทั้งข้าวเก่า ข้าวใหม่ จะค่อนข้างสูง แต่ปีนี้กลับตกต่ำจากสาเหตุข้าวเวียดนามถูกลักลอบเข้ามาตีตลาดข้าวไทยดังกล่าว โดยคุณภาพข้าวและราคาต่ำกว่าข้าวไทย มาก ซึ่งปัญหานี้หลายฝ่ายต่างรับรู้รับทราบกันดี เพราะมีการติดป้ายว่าข้าวเวียดนามราคาถูก ทั้งในรูปแบบข้าวสารและบรรจุภัณฑ์วางขายตามท้องตลาดหลายแห่ง แต่ยังไม่มีหน่วยงานไหนออกมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา จึงอยากวิงวอนให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพราะถือว่าช่วงนี้เป็นวิกฤตราคาข้าวจริงๆ เมืองไทยเราเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าว ไม่เคยมีนโยบายนำเข้าข้าวจากต่างประทศ เมื่อเกิดสถานการณ์ข้าวเวียดนามเข้ามาจำหน่ายและแทรกแซงตลาดข้าวไทย ในลักษณะลักลอบและตัดราคา จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ฐานราคารับซื้อต่ำและสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวนาไทย
อย่างไรก็ตาม ได้แนะนำให้ชาวนาชะลอการขายข้าวเปลือกไว้ก่อน โดยนำข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวแล้วตากแห้ง ซึ่งจะขายได้ราคาสูงกว่าขายข้าวสด ทั้งนี้ ปัจจุบันราคารับซื้อข้าวเหนียวนาปีแห้ง กิโลกรัมละ 9.50-10.00 บาท ข้าวเหนียวสดใหม่ 6.50-6.80 บาท และข้าวเจ้ามะลินาปี 11.00-11.50 บาท