ข่าวด่วน ข่าวอัพเดทรายวัน ข่าวอาชญากรรม

ชาวนากุ้งช้ำร้านอาหารปิดตลาดเหงากุ้งน็อคตายอื้อเดือดร้อนหนักสุดในรอบ 30 ปี

กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ในอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากสถานการณ์การเกิดโรคติดเชื้อโควิด-19ที่ยืดเยื้อมานาน โดยตลาดรับซื้อกุ้งเงียบเหงา รวมทั้งร้านอาหารหลายแห่งปิดตัวลง  ประกอบกับอากาศวิปริตทำให้กุ้งในบ่อที่ได้อายุจับจำหน่ายน็อคตายวันละกว่า 100 กิโลกรัม ระบุเป็นความเดือดร้อนหนักสุดในรอบ 30 ปีที่เลี้ยงกุ้งก้ามกรามมา วอนประมงจังหวัดช่วยเหลือด่วน

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 หลายพื้นที่ทั่วประเทศยังคงผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดย จ.กาฬสินธุ์ก็พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน  ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อขายกุ้งก้ามกราม ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของ จ.กาฬสินธุ์ เนื่องจากตลาดรับซื้อกุ้งหลายแห่ง โดยเฉพาะร้านค้า ร้านอาหารได้ปิดตัวลง พ่อค้าในพื้นที่และต่างจังหวัดหลายราย หยุดการค้าขาย  ไม่นำกุ้งไปส่งต่างจังหวัด หรือเข้ามารับซื้อที่ปากบ่อน้อยลง เนื่องจากหวาดกลัวจะได้รับเชื้อคิด-19  ทำให้เกษตรต้องเลี้ยงกุ้งนานขึ้น แบกภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับเขื่อนลำปาวยังไม่ระบายน้ำให้ชาวนากุ้งได้เปลี่ยนถ่ายในบ่อกุ้ง ทำให้เกิดน้ำเสีย และบางวันอากาศวิปริต กลางวันอากาศร้อนจัด กลางคืนมีฝนตกลงมา ทำให้กุ้งปรับสภาพไม่ทัน เกิดการน็อคตายเป็นจำนวนมาก

นายแก้ว ภูดอนนาง อายุ 65 ปี พ่อค้าคนกลางขายกุ้งก้ามกรามและเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามใน ต.บัวบาน กล่าวว่า  ช่วงสถานการณ์การเกิดโรคโควิด-19 ระบาดที่ยืดเยื้อมานานดังกล่าว และไม่มีท่าทีจะยุติลง ตนและเพื่อนเกษตรกรชาวนาผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ใน ต.บัวบาน รวมทั้ง ต.นาเชือก ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ซึ่งเป็นความเดือดร้อนที่สุดตั้งแต่มีการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามมากว่า 30 ปี เนื่องจากสาเหตุหลักคือกุ้งในบ่อที่กำลังได้อายุจับจำหน่ายขายไม่ได้ ต้องเลี้ยงนานขึ้น เนื่องจากตลาดรับซื้อ ทั้งตลาดสด และร้านอาหาร ที่เป็นแหล่งรับซื้อในหลายจังหวัดภาคอีสานปิดเกือบหมด หลายแห่งหยุดกิจการจึงทำให้กุ้งขายยากขึ้น ประกบกับทางเขื่อนลำปาวยังปิดการส่งน้ำเพื่อซ่อมบำรุงคูคลองเป็นเวลานาน และอากาศวิปริต ทำให้เกิดน้ำเสียน็อคตายไปเป็นจำนวนมาก สำหรับกุ้งตนน็อควันละกว่า 100 ก.ก.ทีเดียว ทำให้ขาดทุนอย่างมาก

นายแก้ว กล่าวอีกว่า เมื่อปีที่แล้วสถานการณ์การเกิดโรคโควิด-19 ไม่รุนแรงมากนัก การค้าขายกุ้งพอไปได้เรื่อยๆ ถึงแม้ตลาดรับซื้อหรือร้านอาหารหลายแห่งจะปิดตัวไป ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการตลาดใหม่ โดยขายตามหมู่บ้าน ตั้งเพิงขายกุ้งริมถนน รวมทั้งเผากุ้งขายและนำส่งลูกค้าด้วย ซึ่งปีที่ผ่านมาตนเลี้ยงกุ้งก้ามกราม 7 หมื่นตัว ขายได้กำไร 2 แสนบาท แต่สำหรับปีนี้โควิด-19 ระบาดหนักและยาวนาน ตนเลี้ยงกุ้งประมาณ 1 แสนตัว แต่คงจะขาดทุนไม่น้อยกว่า 2 แสนบาท เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทั้งค่าพันธุ์ลูกกุ้ง ค่าอาหาร และต้องสิ้นเปลืองค่าน้ำมันในการสูบน้ำด้วย เมื่อเกิดเหตุการณ์กุ้งน็อคตายดังกล่าว ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้เลี้ยงกุ้งทุกคนประสบ ที่จะให้ให้ขาดทุนทั้งหมด จึงอยากเรียกร้องให้ประมงจังหวัดลงมาดูแลและหาทางช่วยเหลือด้วย