ข่าวเศรษฐกิจ

ศรีสะเกษ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดห่วงใยผู้ปลูกทุเรียนและสวนยาง เตรียมขุดลอกแหล่งน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอในหน้าแล้ง

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมอ่างเก็บน้ำห้วยทา ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ นายเกษมศานต์ ศรีโพนทอง ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยนางสาวพิชามญชุ์ แซ่จึง หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ ได้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งน้ำ (ความร่วมมือ กองทัพบก-มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์)พื้นที่ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ดำเนินการสำรวจโดย จ.ส.อ.มานะศักดิ์วิยาสิงห์ ช.พัน.6 พล.ร.6 และ จ.ส.อ.เอกชัย พันยา ช.พัน.201 โดยมีนายบวรพัฒน์ รุ่งคำ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบักดองในฐานะประธานคณะกรรมการผู้ใช้น้ำชุมชน เป็นประธานในที่ประชุม และมี นายธานี สุดาชาติ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบักดอง เป็นรองประธาน ซึ่งว่าที่ ร.ต.เหมราช สุดาชาติ เลขานุการ ได้นำเสนอรายละเอียดโครงการต่อที่ประชุม โดยมีผู้ใหญ่บ้านทั้ง 4 หมู่บ้านประกอบด้วย นายประจิน ละออพงษ์ ผู้ใหญ่บ้านภูดินพัฒนา นายทรงศักดิ์ รุ่งคำผู้ใหญ่บ้านตาเส็ต นายสวัสดิ์ อินวัณณา ผู้ใหญ่บ้านสวนป่า และนายชาตรี สมนึก ผู้ใหญ่บ้านน้ำมุด เป็นผู้นำหมู่บ้านที่ได้เสนองบประมาณในการปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งน้ำ ร่วมกันนำเสนอเกี่ยวกับความจำเป็นในการดำเนินงานตามโครงการขุดลอกแหล่งน้ำ และมีคณะกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนและสวนยางที่มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการขุดลอกเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งหลังจากการประชุมแล้ว คณะกรรมการได้ลงพื้นที่ไปทำการสำรวจหนองน้ำบ้านมุด หนองน้ำบ้านตาเส็ด และหนองน้ำบ้านบักดอง ต.บักดอง อ.ขุนหาญ เพื่อสำรวจพื้นที่จริงในการเร่งดำเนินการต่อไป

นายเกษมศานต์ ศรีโพนทอง ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยต่อไปว่า ซึ่งผู้เสนอของบประมาณในครั้งนี้ คือองค์กรผู้ใช้น้ำ เทิดด้วยทำน้ำ ชุมชนตำบลบักดอง ที่ประชุมได้ร่วมกันวางแผนและหาทางออกร่วมกันในการขุดลอกเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตของเกษตรกรซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ได้อาศัยน้ำจากแหล่งน้ำที่ขุดลอก ซึ่งจากผลการลงพื้นที่ร่วมกันทั้ง 4 พื้นที่ เพื่อหาแนวทางในการเก็บน้ำไว้ใช้ในบ่อพักที่เพียงพอห้วงการขุดลอก และอีกประการหนึ่งก็ได้ให้ทางผู้ใหญ่บ้านทั้ง 4 หมู่บ้านได้ไปประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและเตรียมพื้นที่ให้พร้อมในการขุดลอกทั้งด้านเอกสารและเขตแนวในการขุดลอก ซึ่งผู้ใหญ่บ้านทั้ง 4 หมู่บ้านมีความพอใจและต้องการขุดลอกเพื่อให้พี่น้องชุมชนได้มีน้ำใช้เพียงพอในหน้าแล้งและเพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรโดยเฉพาะสวนทุเรียนซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการขุดลอกครั้งนี้