ข่าวเศรษฐกิจ

ขอนแก่น เปิดตัว จยย.ไฟฟ้าแบตเตอรี่ลิเทียม ผลงานนักวิจัย ม.ขอนแก่น พร้อมออกให้บริการภายในมหาวิทยาลัย ด้วยจุดให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 23 ม.ค. 2567 ที่อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. รศ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ผศ.ดร.อาวุธ ยิ้มแต้ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม และ รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผู้อำนวยการโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มข., พ.ท.หม่อมราชวงศ์พีรานุพงศ์ ภาณุพันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทออสก้าโฮลดิ้ง และบริษัทสตรอม (ไทยแลนด์) จำกัด ร่วมกันแถลงข่าวโครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนเพื่อเป็นการสร้างมหาวิทยาลัยให้น่าอยู่เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวมุ่งสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ท่ามกลางความสนใจจากนักวิชาการ และชาวขอนแก่นจำนวนมาก

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข.กล่าวว่า มหาวิทยาลัย มียุทธศาสตร์ที่สำคัญ การปรับเปลี่ยนการทำงานวิจัยโดยปรับเปลี่ยนจากการทำวิจัยตามความสนใจของนักวิจัยไปสู่การทำวิจัยเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ใหญ่ที่มีผลกระทบ สูง และนำผลงานวิจัยไปต่อยอดไปใช้จริง เกิดผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรม เพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคม และสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นที่น่าอยู่เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว มุ่งสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยเฉพาะกับ การสนับสนุนนโยบายด้านการขนส่งพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนเป็นตัวอย่างโครงการที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยในหลายๆด้าน

“มหาวิทยาลัยจึงมีนโยบายในการส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน ในพื้นที่ มข.โดยการใช้สิทธิเอกชนเข้ามาลงทุน เพื่อให้บริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยการขาย ให้เช่า หรือเช่าซื้อ แก่นักศึกษา และบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมบริหารจัดการ ระบบอำนวยความสะดวก และติดตั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ เพื่อจัดหาผู้ประกอบการ และให้สิทธิ์ในการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า ภายในพื้นที่ เพื่อการต่อยอดการใช้งานภายในจังหวัดต่อไป”

ขณะที่ รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผู้อำนวยการโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มข. กล่าวว่า มข.เป็นผู้พัฒนาทำวิจัยแบตเตอรี่ใหม่ๆหลายๆอย่าง ลิเทียมเป็นตัวแรกที่พัฒนาและวิจัย จนกระทั่งเป็นผลิตภัณฑ์และจากข่าวเร็วๆนี้ การที่มีแหล่งแร่เป็นเรื่องดีทำให้รู้ว่ามีทรัพยากรต้นน้ำกว่าที่จะนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ชนิดต่างๆได้ มีกระบวนการที่เกี่ยวข้องทางเคมีมีอุตสาหกรรมการผลิตขั้วแบตเตอรี่ชนิดต่างๆ อย่างที่เห็นวันนี้คือการเอาแบตเตอรี่ไปใช้งานต้องมีการลงทุนหลายๆจุดทั้งเชิงพัฒนาและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อให้ได้ต้นทุนด้วย

“สิ่งที่นำมาแสดงให้ดูวันนี้คือจักรยานยนต์ไฟฟ้าคือมอเตอร์ไซค์สามารถจดทะเบียนได้ วิ่งตามท้องถนนได้จริงๆ ไม่ใช่จักรยานไฟฟ้าซึ่งแบบนั้นจะเป็นการใช้แบตเตอรี่อีกกลุ่มซึ่งเป็นแบตเตอรี่ตะกั่วกรดอายุการใช้งานสั้นกว่าประสิทธิภาพน้อยกว่าแบตเตอรี่จากลิเทียม แต่ฝั่งนั้นมีราคาถูกกว่า ส่วนจักรยานยนต์ไฟฟ้าตัวนี้เป็นลิเทียมไอออนมีการใช้งานยาวนานกว่าและมีประสิทธิภาพดีกว่าแน่นอนรองรับการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้สามารถชาร์จแบตเร็วกว่าที่เป็นแบบตะกั่วกรดแน่นอน”

ด้านธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นและเทศบาลนครขอนแก่นมียุทธศาสตร์สมาร์ทซิตี้พูดถึงการลดโลกร้อน การประหยัดพลังงาน เทศบาลทำโครงการต่างๆมากมายเพื่อรองรับในเรื่องนี้ไม่ว่าจะผลักดันรถไฟฟ้ารางเบา รถแทรมน้อยรอบบึงแก่นนคร การติดตั้งโซล่าเซลล์ที่โรงบำบัดน้ำเสีย การทำโรงงานไฟฟ้ากำจัดขยะ ทั้งหมดทำเพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ทางเทศบาลคิดว่าถ้าเราร่วมมือกันช่วยกันประหยัดพลังงานได้จริงเทศบาลพร้อมให้การสนับสนุน แต่สาระสำคัญคือต้องเป็นนโยบายในระดับชาติที่ประชาชนมีโอกาสได้ใช้จริงภายใต้ต้นทุนที่ถูก ถ้าจะทำจริงต้องสร้างแรงจูงใจให้ประชาชน กำลังคิดว่าอยากจะนำร่องไปที่กลุ่มประธานชุมชนทั้ง 95 ชุมชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่น

“ถ้าเทศบาลจะเอารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้กลุ่มประธานชุมชนใช้นำร่องซึ่งเรื่องนี้กำลังคุยกับทางตัวแทนบริษัทภายใต้ต้นทุนที่ถูกที่สุด ไม่เป็นภาระในระยะยาวและหลังจากนั้นจะเผยแพร่ให้ประชาชนเห็นว่าใช้งานได้จริงใช้แล้วประหยัดจริงมีข้อมูลยืนยันได้และน่าจะเป็นแรงจูงใจประชาชนมาตระหนักเรื่องนี้ แต่ทุกคนคงจะไม่หันมาใช้หมด แต่คนที่มีความเข้าใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมการลดโลกร้อน นั้นคือความสนใจที่เทศบาลอยากมาร่วมทำ”