ข่าวเศรษฐกิจ

ขอนแก่น เกษตรกรต.ท่ากระเสริม อ.น้ำพอง หันมาปลูกสควอชเพื่อขายเมล็ดให้กับบริษัทเอกชน แทนการปลูกข้าวนาปรัง หลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำและราคาข้าวตกต่ำ โดยแกะเอาเมล็ดขายกิโลกรัมละ 950 บาท สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท ในเก็บเกี่ยวเพียง 1 เที่ยว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรผู้เพาะปลูกลูกสควอช บ้านท่ากระเสริม หมู่ 5 ต.ท่ากระเสริม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ช่วยกันนำลูกสควอชที่โตและสุกเหลืองได้ที่มาผ่าครึ่ง ก่อนที่จะคว้านเอาเฉพาะส่วนเมล็ดที่อยู่ข้างในออกมา นำไปล้างทำความสะอาดให้เหลือเฉพาะเมล็ดที่ไม่มีเนื้อเยื้อของลูกสควอชที่มีลักษณะเป็นเหมือกสีเหลืองติดอยู่ เมื่อล้างดีแล้วก็จะนำไปตากแดดให้แห้ง ก่อนจะนำไปเข้าสู่กระบวนการจัดเก็บเพื่อเตรียมไว้ส่งขายให้กับบริษัทเอกชนที่เป็นผู้เข้ามาส่งเสริม สนับสนุน และลงทุนให้ชาวบ้านเพาะปลูก โดยรับซื้อในราคาสูงถึง 950 บาทต่อหนึ่งกิโลกรัม ทำให้ชาวบ้านที่นี่มีอาชีพและรายได้ในช่วงที่ว่างเว้นจากฤดูกาลทำข้าวนาปี และยังมีรายได้สูงกว่าการปลูกข้าวนาปรังหลายเท่าตัว

นางยุพิน พิสุทธิ์เลิศมานะ อายุ 53 ปี เกษตรกรผู้ปลูกลูกสควอช บ้านท่ากระเสริม หมู่ 5 ต.ท่ากระเสริม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เล่าว่า ก่อนที่ตนเองจะหันมาสนใจเพาะปลูกลูกสควอชเพื่อขายเมล็ด ในช่วงหลังฤดูกาลทำข้าวนาปีก็จะทำข้าวนาปรังต่อ แต่ระยะหลังพบว่า ราคาข้าวไม่ดี ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน อีกทั้งยังประสบปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกข้าวนาปรัง กระทั้งได้มีบริษัทเอกชนเข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาเพาะปลูกพืชอายุสั้น ที่ใช้เวลาเพาะปลูกไม่นาน แต่สามารถสร้างรายได้ได้มากกว่าการทำนาปรัง ตนเองจึงได้แบ่งที่นาที่มีอยู่จำนวนหนึ่ง มาใช้เป็นแปลงปลูกสควอช

“โดยบริษัทเอกชน เป็นผู้ออกค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยบำรุงให้ก่อน และคอยมาติดตามให้ความรู้วิธีการปลูก ซึ่งในที่นาประมาณ 3 ไร่ ตนเองได้ปลูกสควอช จำนวน 7,000 เมล็ด โดยเที่ยวนี้ได้เริ่มเพาะปลูกในช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน มี.ค. ซึ่งปีนี้ผลผลิตที่ได้ค่อนข้างดี คาดว่าหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งหมด เมื่อหักลบค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ยบำรุงแล้ว ตนเองจะมีรายได้จากการขายเมล็ดสควอชในรอบนี้ไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท”

นางยุพิน กล่าวอีกว่า ตอนนี้ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ท่ากระเสริม เริ่มหันมาเพาะปลูกสควอชกันมากขึ้น เนื่องจากรายได้ดีว่าการทำข้าวนาปรังหลายเท่าตัว ซึ่งราคาข้าวมีความไม่แน่นอน แต่สำหรับการปลูกสควอชขายเมล็ดนั้นหากดูแลเอาใจใส่อย่างดี พอเสร็จสิ้นฤดูการเก็บเกี่ยวและขายเมล็ดได้แล้ว ชาวบ้านจะมีเงินแสนอยู่ในมืออย่างแน่นอน และเงินส่วนนี้ก็สามารถนำไปเป็นทุนในการทำนาปีได้อีกด้วย