ข่าวการศึกษา

ม.นครพนม เสนอผลงานวิจัยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการกะละแมโบราณนครพนม

วันที่ 28 กันยายน 2566 ที่อาคารสารสนเทศเพื่อบริการ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครนพม ศ.ดร. ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม เป็นประธานการประชุมนำเสนอผลการวิจัย เพื่อขยายผลไปสู่การปฏิบัติเชิงพื้นที่ เรื่องการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการตลอดสายโซ่ผลิตภัณฑ์กะละแมโบราณนครพนม ด้วยกลไกขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าใหม่บนฐานทุนทรัพยากรพื้นถิ่น ภายใต้กรอบการวิจัยที่คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย ในปีงบประมาณ 2565โดยมี รศ.ดร.เชิดชัย โพธิ์ศรี รักษาราชการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวรายงาน มีผู้เชียวชาญกรอบวิจัย Local Enterprises และภาคีเครือข่ายร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อพัฒนางานวิจัยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โดย ดร.คมศักดิ์ หารไชย หัวหน้างานวิจัย ได้มีการนำเสนอผลการวิจัยว่า ในโบราณอีสานประเพณีฮีตสิบสองของอำเภอธาตุพนม จะมีการทำขนมไปถวายพระ และทำขนมเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน จึงเป็นที่มาของการทำกาละแมที่สืบทอดต่อกันมามากกว่า 70 ปี ซึ่งในการวิจัยได้มีการลงพื้นที่เก็บข้อมูล เพื่อศึกษา วิเคราะห์และประเมิน ร่วมกับชุมชน และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ทำให้พบว่าตลาดกะละแม มีโอกาสและสามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันได้อีกมาก โดยเฉพาะในกระบวนการผลิตที่ใช้วัตถุดิบจากใบตองเป็นจำนวนมากและเดิมต้องมีการนำเข้าจากต่างจังหวัดถึง 90 % และเมื่อได้มาแล้วจะมีกระบวนการรีดใบตองที่มีเทคนิคเฉพาะ ให้ยังคงมีเอกลักษณ์กลิ่นหอมของใบตองเมื่อนำมาห่อกะละแม ส่วนการจำหน่ายก็มีเพียงลูกค้าในพื้นที่ และลูกค้าจากจังหวัดใกล้เคียง จึงนำมาสู่การพัฒนาศักยภาพในการประกอบธุรกิจให้กับชุมชน ที่ก่อให้เกิดเครือข่ายการปลูกใบตองใน 3 ระดับ คือระดับครัวเรือน ระดับโคก หนอง นา และระดับแปลงเกษตรขนาดใหญ่ที่มีการเชื่อมโยงกันทั้งหมด ทำให้ลดการนำเข้าใบตองจากต่างจังหวัดเป็นมาใช้ใบตองในพื้นที่ นำมาซึ่งการกระจายรายได้ให้คนในชุมชน ขณะเดียวกันก็เกิดกลุ่มผู้ประกอบการรีดใบตอง ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน สามารถลดเครื่องมือที่นอกจากจะใช้เตารีดแบบถ่านแล้วยังมีเครื่องรีดใบตองเพิ่มขึ้นมา แต่ให้มาตรฐานเดียวกัน ทั้งมีการจ้างงานคนในชุมชนเกิดขึ้นตามมา กลายเป็นธุรกิจชุมชนที่มีหัวใจเดียวกัน เป็นการขับเคลื่อน Soft Power ที่มีการนำงานวิชาการมาพัฒนาต่อยอดจนเห็นเป็นรูปธรรม และในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญกรอบวิจัย Local Enterprises และภาคีเครือข่าย ทำให้มองเห็นถึงแนวทางการพัฒนาต่อยอดในด้านอื่น ๆ ได้อีกหลากหลายด้าน เพื่อพัฒนางานวิจัยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การออกแบบรูปลักษณ์รูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์และรูปทรงกะละแมให้ตอบโจทย์ลูกค้าต่างประเทศ การทำให้กะละแมเก็บได้นานขึ้นเป็นปี การสร้างแบรนด์และการจดทะเบียน