ข่าวการศึกษา

ม.นครพนม ถอดบทเรียนงานวิจัยผู้พิการทางสติปัญญา พร้อมมอบชุดสื่อเรียนรู้ประกอบอาชีพแก่ภาคีเครือข่าย 12 หน่วยงาน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนริมโขง

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 มหาวิทยาลัยนครพนม จัดเวทีถอดบทเรียนโครงการวิจัยและผลิตสื่อสร้างการเรียนรู้สำหรับประกอบอาชีพแก่คนพิการทางสติปัญญาและครอบครัว ภายใต้วิถีปกติใหม่ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขจิต ณ กาฬสินธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เป็นประธานเปิดงาน มี ดร.คณิน เชื้อดวงผุย หัวหน้าโครงการวิจัยและผลิตสื่อสร้างการเรียนรู้สำหรับประกอบอาชีพแก่คนพิการทางสติปัญญาและครอบครัว ภายใต้วิถีปกติใหม่ กล่าวรายงาน ณ ห้องพนมศิลป์ ชั้น M อาคาร 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม

ดร.คณิน เชื้อดวงผุย หัวหน้าโครงการวิจัยและผลิตสื่อสร้างการเรียนรู้สำหรับประกอบอาชีพแก่คนพิการทางสติปัญญาและครอบครัว ภายใต้วิถีปกติใหม่ เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยเป็นการดำเนินงานร่วมกับเด็กและครอบครัวของผู้พิการทางสติปัญญา รวมถึงหน่วยงานที่เป็นภาคีเครือข่ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนริมน้ำโขง เช่น บึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร เพื่อศึกษาปัญหาความต้องการของเด็กและครอบครัวผู้พิการทางสติปัญญา ในเรื่องการพัฒนาทักษะอาชีพ การออกแบบสื่อที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสรรถนะของผู้พิการทางสติปัญญา รวมถึงการนำสื่อที่ได้จากการทดลองงานวิจัย มาใช้ในการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับเด็กและครอบครัวของผู้พิการทางสติปัญญา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เบญจยามาศ พิลายนต์ นักวิชาการโครงการวิจัยและผลิตสื่อสร้างการเรียนรู้สำหรับประกอบอาชีพแก่คนพิการทางสติปัญญาและครอบครัว ภายใต้วิถีปกติใหม่ กล่าวว่า จากงานวิจัยของตัวเลขทั่วโลก พบว่ามีคนพิการมากกว่า 1,000 ล้านคน (คิดเป็น 15 % ของประชากรทั่วโลก) มีคนพิการทางสติปัญญามากถึง 200 ล้านคน ตัวเลขในประเทศไทยพบมีคนพิการกว่า 2 ล้านคน (คิดเป็น 3.08 % ของประชากรทั่วประเทศ) และมีคนพิการทางสติปัญญากว่า 140,000 คน ขณะที่ 3 จังหวัดชายแดนริมน้ำโขง ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของการดำเนินงานวิจัย มีคนพิการทางสติปัญญามากถึง 2,958 คน (นครพนม 1,814 คน บึงกาฬ 835 คน และมุกดาหาร 759 คน) ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาของสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 พบว่าครอบครัวของผู้พิการทางสติปัญญาในพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าว มีรายได้ลดลง บางครอบครัวแทบไม่มีรายได้จากการจ้างงาน หากเด็กผู้พิการทางสติปัญญาได้รับการพัฒนา หรือมีทักษะการประกอบอาชีพที่ดี จะเป็นกำลังเสริมให้กับครอบครัวในเรื่องของการเพิ่มรายได้

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขจิต ณ กาฬสินธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยนครพนม นอกจากการผลิตบัณฑิตที่มีทักษะความสามารถป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน มหาวิทยาลัยยังมีพันธกิจในด้านการวิจัย การบริการวิชาการ เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่ชุมชนและสังคม โดยส่งเสริมผลลัพธ์จากงานวิจัย ที่เป็นนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปช่วยสนับสนุนให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ในสังคมทั่วไป ทั้งในกลุ่มคนปกติ และกลุ่มคนที่เป็นผู้พิการ โดยเฉพาะการให้สวัสดิการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางสังคม ตลอดจนการสร้างการรับรู้ และสร้างเจตคติที่ดีสำหรับผู้พิการ

นอกจากนี้ ยังจัดเวทีเสวนา ในหัวข้อ “บทเรียนความสำเร็จการเรียนรู้ประกอบอาชีพแก่คนพิการทางสติปัญญาและครอบครัว ภายใต้วิถีปกติใหม่” จากนายภาคภูมิ แพงพิมาย ครูชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มบริหารวิชาการ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครพนม นายณรงค์ชัย บุรชาติ นักพัฒนาชุมชน (ชำนาญการพิเศษ) ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบลมหาชัย นางปราณี แก่นนาดี ตัวแทนผู้ปกครองเด็กผู้พิการทางสติปัญญา ดร.คณิน เชื้อดวงผุย หัวหน้าโครงการวิจัยและผลิตสื่อสร้างการเรียนรู้สำหรับประกอบอาชีพแก่คนพิการทางสติปัญญาและครอบครัว ภายใต้วิถีปกติใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เบญจยามาศ พิลายนต์ นักวิชาการโครงการวิจัยและผลิตสื่อสร้างการเรียนรู้สำหรับประกอบอาชีพแก่คนพิการทางสติปัญญาและครอบครัว ภายใต้วิถีปกติใหม่ ร่วมเสวนา โดยมีนายวิชิต โกพลรัตน์ นักพัฒนาสังคม สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทั้งนี้ ยังได้มอบชุดสื่อเรียนรู้สำหรับการประกอบอาชีพแก่คนพิการทางสติปัญญาที่ผ่านการประเมินจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 อาชีพ ได้แก่ การทำความสะอาด การปลูกผักบุ้ง การเลี้ยงปลาดุก และการทอดกล้วยกรอบ ให้แก่ผู้ปกครอง และผู้แทนหน่วยงานที่มาร่วมกิจกรรม อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบลกุดฉิม องค์การบริหารส่วนตำบลรามราช องค์การบริหารส่วนตำบลคำเตย องค์การบริหารส่วนตำบลมหาชัย องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกลาง องค์การบริหารส่วนตำบลนาทราย องค์การบริหารส่วนตำบลหนองย่างชิ้น เทศบาลเมืองนครพนม ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดมุกดาหาร ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครพนม ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสกลนคร และสมาคมเพื่อคนพิการทางสติปัญญาจังหวัดนครพนม เพื่อนำไปฝึกทักษะให้เกิดการสร้างรายได้ของกลุ่มผู้พิการทางสติปัญญา