วิถีชีวิต

นครพนม “เอดละวาน เก่วข้าว” สืบสานประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว วิถีผู้ไทเรณูนคร

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรม “ลงแขกเกี่ยวข้าวนาปี ปีการผลิต 2566/67” เพื่อเป็นการสืบสานอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมการลงแขกเกี่ยวข้าวนาปีในท้องถิ่น สร้างความรักสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ในชุมชน รวมถึงเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและช่วยเหลือแบ่งเบาภาระเกษตรกรที่มีฐานะยากจน ขาดแคลนแรงงาน ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนการผลิต โดยไม่ต้องจ่ายค่าแรงงานเกี่ยวข้าว หรือว่าจ้างรถเกี่ยวข้าว โดยลงแขกเกี่ยวข้าว ณ แปลงนา นายหนูเวียง ราชฐาน บ้านหนองมะแปป หมู่ที่ 4 ต.เรณูใต้ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม โดยมี นายภัทรชัย หาญวิศิษฏ์ นายอำเภอเรณูนคร พร้อมด้วย นางสาวกัญณฐา อภินนธนา เกษตรจังหวัดนครพนม นางศิราพร กุลจิตติวิรัชหัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต และนางสาวนิภาพร ไชยราช เกษตรอำเภอเรณูนคร และหัวหน้าส่วนราชการอำเภอ ภาคีเครือข่าย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จิตอาสาและพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ตำบลนาเดื่อ มากกว่า 50 คน ร่วมกิจกรรมฯ

สำหรับประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นประเพณีไทยที่งดงามอีกอย่างหนึ่งของชาวนาไทย ซึ่งคนอีสานเรียกว่า ลงแขก เป็นวัฒนธรรมประเพณีแห่งการเกื้อกูลกันของสังคมคนในอดีต ที่นับวันจะสูญหายจากสังคมไทย เพราะระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ใช้เงินตราเป็นตัวกำหนดในการแลกเปลี่ยนด้านต่างๆ เช่น ค่าจ้างแรงาน คำว่า “ลงแขก” ที่คนไทยสมัยนี้เข้าใจ ในความหมายว่าเป็นการกระทำผิดอาญา เป็นเรื่องที่ไม่ดีไม่ถูกต้อง แต่สำหรับคนอีสานแล้ว “ลงแขก” มีความหมายถึงน้ำใจไมตรีที่ผู้คนในชุมชนมอบให้กัน ช่วยเหลือกันในกิจการงานต่างๆให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็วนั่นเอง นอกจากนี้ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวยังเป็นโอกาสให้หนุ่มสาวที่กำลังหมายปองกันได้มีโอกาสมารู้จักกันศึกษานิสัยใจคอกันและพบรักกันได้อีกด้วย

ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว คือ ประเพณีที่เจ้าของนาจะบอกเพื่อนบ้านให้รู้ว่าจะเกี่ยวข้าวเมื่อใด และเมื่อถึงวันที่กำหนดเจ้าของนาก็จะต้องปักธงไว้ที่นาของตนเพื่อให้เพื่อนบ้านหรือแขกที่รู้จะได้มาช่วยเกี่ยวได้ถูกต้องโดยเจ้าของนาจะต้องจัด เตรียมอาหาร คาวหวาน เครื่องดื่ม ไว้รองรับด้วย และในการขณะเกี่ยวข้าวก็จะมีการละเล่นร้องเพลงเกี่ยวข้องระหว่างหนุ่มสาว เป็นที่สนุกสนานและเพลิดเพลินเพื่อคลายความเหน็ดเหนื่อยได้ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว ซึ่งนับวันหายาก ชาวอีสานส่วนใหญ่เป็นผู้มีน้ำใจไมตรี ดังนั้นในการทำกิจการงานใดๆ ไม่ว่างานเล็กงานใหญ่ จึงสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีโดยการหมุนเวียนจากครอบครัวหนึ่งไปสู่อีกครอบครัวหนึ่ง ช่วยงานกันคนละมือละไม้ใช้เวลาไม่นานงานก็สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี สำหรับงานที่จะลงแขกกันนั้นอาจจะเป็นงานส่วนรวมหรืองานส่วนตัวก็ได้ ซึ่งงานส่วนตัวนั้นส่วนมากมักเป็นงานใหญ่สุดกำลังคนในครอบครัวจะทำได้ หรืออาจจะเป็นงานหนักแต่จำเป็นต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว จึงต้องบอกกล่าวให้ญาติพี่น้องเพื่อนบ้านมาช่วยเหลือเพื่อให้งานเสร็จสิ้นไป งานที่มักจะมีการลงแขก เช่น การลงแขกทำนา ซึ่งมีการลงแขกดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าว ลงแขกตีข้าว (นวดข้าว) เป็นต้น

แต่ปัจจุบันประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวแทบจะไม่มีให้เห็น เนื่องจากเกษตรสมัยใหม่นิยมใช้เครื่องทุ่นแรง ใช้เทคโนโลยีในการทำการเกษตรแทนการใช้แรงงานคน เนื่องจากอัตราค่าจ้างแรงงานในการเกี่ยวข้าวค่อนข้างสูง และแรงงานก็หายากเพราะคนรุ่นใหม่ในต่างจังหวัดไม่นิยมทำงานในภูมิลำเนาเดิม โดยเฉพาะทำการเกษตร เนื่องจากส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาสูงขึ้น จึงเลือกประกอบอาชีพอื่นแทนการเป็นเกษตรกรเหมือนรุ่นพ่อรุ่นแม่ จึงทำให้ขาดแรงงานในภาคการเกษตร เกษตรกรหลายคนเลือกที่จะใช้รถเกี่ยวข้าวแทนแรงงานคนเพราะช่วยประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน และยังเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างรวดเร็ว ทำให้บรรยากาศการลงแขกเกี่ยวข้าวที่หลายคนมาช่วยกันเกี่ยวข้าวเหมือนในอดีตนั้น เริ่มจางหายไปจากสังคมไทยเราเหลือไว้แต่ภาพความทรงจำในอดีตก่อนที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของมนุษย์เราอย่างเช่นปัจจุบัน