วิถีชีวิต

ลอยกระทงนครพนมคึกคัก นักท่องเที่ยวแห่ชมกระทงสร้างสรรค์ประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติ

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ที่จังหวัดนครพนม บรรยากาศการสืบสานประเพณีลอยกระทง ยังคงเป็นไปด้วยความคึกคักของชาวนครพนมและนักท่องเที่ยว ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันนำกระทงมาลอย ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยมีทั้งที่เตรียมกระทงมาจากที่บ้าน มาหาซื้อก่อนเข้าบริเวณงาน หรือมาร่วมกิจกรรมประดิษฐ์กระทงก็จะได้กระทงไปลอยแบบไม่มีค่าใช้จ่าย โดยหลายคนเลือกที่จะมาลอยกระทงตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 17.30 น. เพื่อที่จะได้เก็บภาพสวย ๆ ของแสงพระอาทิตย์เวลาตกกระทบน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งจะให้แสงและสีที่สวยงามท่ามกลางบรรยากาศเย็นสบายมีทิวเขาหินปูน ฝั่ง สปป.ลาว เป็นพื้นหลังไม่มีที่ใดเหมือน ก่อนที่จะมาเยี่ยมชมความสวยงามของกระทงประดิษฐ์ที่แต่ละชุมชนได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำขึ้นมาจากวัสดุพื้นถิ่น ไม่ว่าจะเป็น ต้นกล้วย ใบตอง ถั่ว งา ดอกไม้นานา ๆ ชนิด รวมถึงพืชผลทางการเกษตรหรือแม้แต่เครื่องมือเครื่องใช้ภายในบ้านที่นำมาออกแบบดัดแปลงให้กลายเป็นส่วนประกอบของกระทงที่มีความสวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผ่านจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ที่เน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติและดูแลสิ่งแวดล้อม ขณะที่อีกหลายคนก็เลือกที่จะมาร่วมกิจกรรมออเจ้า ที่ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม ร่วมกับเทศบาลเมืองนครพนมได้มีการตกแต่งมุมสวย ๆ ย้อนยุคโบราณให้ทุกคนได้มาถ่ายภาพเก็บความประทับใจที่ให้บริการแบบฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ก่อนที่จะร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวงขอขมาพระแม่คงคา และร่วมกันลอยกระทงกับ นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ตลอดจนคณะผู้บริหารจังหวัดนครพนม จากนั้นจึงมาร่วมส่งแรงใจ ลุ้นและเชียร์นางนพมาศ ที่จัดให้แต่ละชุมชนส่งสาวงามเข้าประกวดแข่งขันเพื่อชิงเงินรางวัลและถ้วยรางวัล

โดยการลอยกระทง เป็นประเพณีสำคัญเก่าแก่ของไทย ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ซึ่งอยู่ในช่วงน้ำหลาก มีที่มาจากพิธีกรรมเกี่ยวกับน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในดำรงชีวิตของคนไทย แม้จุดมุ่งหมายหรือความเชื่อในการลอยกระทงจะมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่สิ่งที่เหมือนกันของประเพณีนี้ก็คือ การแสดงถึงความกตัญญูรู้จักสำนึกถึงคุณของน้ำ โดยเชื่อว่าประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีโบราณของอินเดียที่ประเทศไทยรับเข้ามาปฏิบัติ ด้วยไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าทำกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ขณะเดียวกันก็มีตำนานที่กล่าวไว้ว่าในสมัยพ่อขุนรามคำแหง มีนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยเรียกว่าพิธีจองเปรียงที่เป็นการลอยเทียนประทีปและนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป โดยมีปรากฏในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่กล่าวถึงพระดำรัสของพระร่วงว่า “แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน แต่เท่าที่มีหลักฐานปรากฏในเอกสารของลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศส ที่มีการบันทึกพิธีกรรมชาวบ้านในกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จะมีเขียนไว้หลายตอน เกี่ยวกับพิธีกรรมทางน้ำ รวมถึงมีหลักฐานการตราเป็นกฎมณเฑียรบาลว่าพระเจ้าแผ่นดินต้องเสด็จไปประกอบพิธีกรรมทางน้ำเพื่อความมั่นคงและมั่งคั่งทางกสิกรรมของราษฎร และยังมีขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคเพื่อประกอบพระราชพิธีโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นประเพณีหลวง แต่ไม่ได้ชี้ชัดว่าเป็นพิธีลอยกระทง แต่ในปัจจุบันมีหลักฐานว่าไม่น่าจะเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรมการสร้างกระทงแบบต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 1 จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้เปลี่ยนการทำจากดอกบัวเป็นต้นกล้วยเพราะดอกบัวหายากและมีน้อย โดยมีการพับใบตองตกแต่งให้เกิดความสวยงามและถือปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหลายจังหวัดจะมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่แต่จะมีความแตกต่างกันไปตามเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น เช่น ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่จะจัดงานยี่เป็ง จังหวัดลำปางงานล่องสะเปา ภาคกลาง จังหวัดตากจัดงานลอยกระทงสาย จังหวัดสุโขทัยจัดงานลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ภาคอีสาน จังหวัดร้อยเอ็ดจัดงานสมมาน้ำคืนเพ็ง เส็งประทีป จังหวัดสกลนครจัดงานลอยพระประทีปพระราชทานสิบสองเพ็งไทสกล ขณะที่ภาคใต้ก็จะเป็นประเพณีลอยเรือ