วิถีชีวิต

ขอนแก่น กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมเชิดชูอัตลักษณ์หมอลำ กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ในงานมหกรรมหมอลำพื้นบ้าน ออนซอนอีสาน ฮีต 12 ตามฮอยอีสาน ในงานเทศกาลไหมฯ ประจำปี 2566

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 28 พ.ย. 2566 ที่ เวทีสภาวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธานพิธียกอ้อยอครูหมอลำ ในงานมหกรรมหมอลำพื้นบ้าน ออนซอนอีสาน อีตสิบสองตามฮอยอีสาน ในงานเทศกาลไหมนานาชาติประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาดจังหวัดชอนแก่นและงานขอนแก่น ชอฟต์พาวเวอร์ ประจำปี 2566 โดยมีนายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ กงสุลใหญ่ กงสุลกิตติมศักดิ์ สภาวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ศิลปินแห่งชาติศิลปินหมอลำภาคอีสาน พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมในพิธี

โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มุ่งเน้นการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อนำพาสังคมไทยไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรมในการดำเนินงานส่งเสริมวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น และการพัฒนาชุมชนวัฒนธรรมเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตามที่รัฐบาลมีนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ชอฟต์พาวเวอร์ เพื่อสร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้ “วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ”

นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า จากนโยบายของนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายหลายๆด้านต่อรัฐสภา ในด้านของศิลปวัฒนธรรมได้พูดถึงเรื่องของ soft power เป็นอีกสาขาหนึ่งที่จะสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศ ซึ่งภารกิจที่กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการมีศักยภาพใน 5 ด้านที่เรียกว่า 5F ได้แก่ F-Food อาหาร, F-Film ภาพยนตร์และวีดิทัศน์, F-Fashion การออกแบบแฟชั่นไทย, F-Fighting ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย และ F-Festival

เทศกาลประเพณีไทย สู่ระดับโลก เพื่อช่วยสร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ ทั้งมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้รับมอบหมายจากกระทรวงวัฒนธรรม ได้มาดูเรื่องของ soft power ของจังหวัดขอนแก่น โดยเห็นว่า สัญลักษณ์หรืออัตลักษณ์สำคัญที่สุดของจังหวัดขอนแก่น คือ “หมอลำ” ซึ่งเป็นที่ประจักษ์มาอย่างช้านานในประเทศไทย ศักยภาพของหมอลำมีทั้งในเชิงของคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมบูรณาการจัดงานเทศกาลไหมฯ และสภาวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น ได้นำเสนอ มหกรรมหมอลำจาก 20 จังหวัดในภาคอีสาน เพื่อแสดงศักยภาพเชิงมิติทางด้านสังคมและมิติทางด้านเศรษฐกิจ ว่าหมอลำเคยมีศักยภาพในการสร้างเม็ดเงินมากกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี ก่อนสถานการณ์โควิด ขณะนี้สถานการณ์กลับขึ้นมาสู่ปกติแล้ว