วิถีชีวิต

ขอนแก่น นักท่องเที่ยวรุ่นจิ๋วร่วมชมการประกวดก่อกองทรายที่วัดธาตุพระอารามหลวง หนึ่งในกิจกรรมในงานประเพณีสุดยอดสงกรานต์อีสานฯพร้อมเรียนรู้พิธี “ฮดสรง” พระพุทธพระลับจำลอง และ ชักรอกสรงน้ำองค์พระธาตุ

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 11 เม.ย. 2567 ที่บริเวณวัดธาตุพระอารามหลวงต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเทศบาล หัวหน้าส่วนงานเทศบาล พนักงานเทศบาล พี่น้องชุมชน ประชาชนชาวขอนแก่น และนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัย ร่วมกันเปิดกิจกรรมการประกวดตบประทาย หรือ ก่อพระทราย ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของงานประเพณีสุดยอดสงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูนเสียงแคน และถนนข้าวเหนียว ประจำปี 2567 โดยมีคณาจารย์จากศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน และมีผู้เข้าร่วมประกวด จำนวน 4 ทีม ซึ่งมาจากพี่น้องชุมชนทั้ง 95 ชุมชน ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น โดยแบ่งออกเป็น 4เขต ท่ามกลางบรรยากาศความสนุกสนานด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของพี่น้องชุมชน  

โดยมีหลักเกณฑ์การให้คะแนน จะเน้น 1.การแสดงออกถึงฝีมือการก่อ ความประณีต สวยงาม 2.สื่อความหมายในด้านศิลปวัฒนธรรม แสดงเอกลักษณ์ศิลปะสถาปัตยกรรม 3. การจัดองค์ประกอบของเจดีย์ ขนาดได้สัดส่วน ความสมดุล 4. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ 5. ความตรงต่อเวลา ผลงานเสร็จทันเวลา และ 6. ความร่วมมือและความพร้อมเพรียงของทีม โดยมีผลการตัดสิน ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 7,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 3 ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น  กล่าวว่า การตบประทาย เป็นภาษาอีสาน  หมายถึง การก่อกองทราย เป็นประเพณีหนึ่งที่มีที่มาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาโดยตรง โดยคนไทยผูกโยงประเพณีนี้เข้ากับคติความเชื่อเรื่องเวรกรรมในพระพุทธศาสนา มีการก่อพระเจดีย์ทรายถวายวัดเพื่อนำเศษดินทรายที่ติดเท้าออกจากวัดไปมาคืนวัดในรูปพระเจดีย์ทราย และเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาให้เป็นกุศลอานิสงส์ และนอกจากประเพณีเพื่อเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังเป็นกุศโลบายของคนในอดีตให้มีการรวมตัวของคนในชุมชนเพื่อร่วมกันจัดประเพณีรื่นเริงเป็นการสังสรรค์สร้างความสามัคคีของคนในชุมชนด้วย ซึ่งการจัดการประกวดในวันนี้พี่น้องชุมชน ทั้ง 95 ชุมชน 4 เขต ได้ร่วมมือในกิจกรรมที่เป็นการสืบสวนอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมให้แก่ประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม และก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะเป็นการสืบสวนอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมให้แก่ประชาชนทั่วไปได้รู้จักมากยิ่งขึ้น.

โดยบรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคัก นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาต่างพากันให้ความสนใจในการก่อทราย นอกจากนี้คณะครูยังได้พาน้อง ๆ นักเรียนตัวจิ๋ว เดินทางมาร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นภายในวัด เช่น การให้น้องๆ หนูๆ ได้ทำพิธีฮดสรง หรือ สรงน้ำพรพุทธรูป “องค์พระลับ” จำลอง โดยการตักน้ำจากตุ่มแล้วนำมาเทลงใน “ฮางฮด” หรือ “รางริน” ที่จำลองเป็นพญานาค เพื่อให้น้ำไหลตามรางรินไปสรงน้ำพระพุทธรูป เพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวและเด็กๆ ได้ร่วมกันชักรอกสรงน้ำองค์พระธาตุอีกด้วย