วิถีชีวิต

นครพนม วธ. ชวนพุทธศาสนิกชน เติมบุญสวมผ้าไทย ห่มสไบ ใส่บาตรริมโขง

วันที่ 8 กรกฎาคม 2566 เวลา 7.30 น.ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง เทศบาลเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นางแสงมณีจรรณ์ เพชรสังหาร ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครพนม ผู้แทนรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ วัฒนธรรมจังหวัดนครพนม บึงกาฬ มุกดาหาร หนองคาย และจังหวัดอุดรธานี ตลอดจนคณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และพุทธศาสนิกชน ร่วมกันทำบุญตักบาตรคณะพระสงฆ์ และรับฟังพระธรรมเทศนาจากพระครูกิตติสุตานุยุต เจ้าคณะอำเภอเมืองนครพนม เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ กับกิจกรรมครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน ภายใต้แนวคิด สวมผ้าไทย ห่มสไบ ใส่บาตรริมโขง ที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้มีการขับเคลื่อนนโยบาย “นำธรรมะสู่ใจประชาชน” เพื่อส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าวัดทำบุญเป็นประจำ ทั้งในวันพระ และวันธรรมดาเพิ่มมากขึ้น

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กิจกรรมสวมผ้าไทย ห่มสไบ ใส่บาตรริมโขง ที่จัดขึ้นในครั้งนี้เป็นการบูรณาการงานร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม บึงกาฬ มุกดาหาร หนองคาย และอุดรธานี ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เป็นการยกระดับกิจกรรมส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสตักบาตร สะสมเสบียงบุญ นอกเหนือจากวันธรรมสวนะ โดยในโอกาสนี้ได้มีการเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนที่มาร่วมกิจกรรมได้อนุรักษ์ประเพณีการตักบาตรเหมือนสมัยก่อน ที่ทุกคนจะสวมผ้าไทย ห่มสไบไปตักบาตรในยามเช้า ถือเป็นการชูอัตลักษณ์วิถีถิ่น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้คนในชุมชนและเกิดการท่องเที่ยวเชิงวิถีธรรม อีกทั้งส่งเสริมให้ทุกคนได้หันมาใส่ใจในสุขภาพของพระสงฆ์ ด้วยการถวายภัตตาหารที่เป็นเมนูสุขภาพ เพราะในปัจจุบันพบว่ามีพระสงฆ์อาพาธจากโรคต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในวันนี้กรมการศาสนา โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม บึงกาฬ มุกดาหาร และจังหวัดหนองคาย ได้ร่วมกันออกบูธจัดแสดงชุดตักบาตรตามวิถีถิ่นที่เป็นเมนูสุขภาพห่างไกลจากโรคมาให้ทุกคนได้ศึกษา เรียนรู้และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันก็ยังได้ดำเนินการส่งเสริม Soft Power ของกระทรวงวัฒนธรรมในมิติศาสนา ที่นอกจากผู้ที่มาทำบุญและนักท่องเที่ยวจะรู้สึกอิ่มบุญแล้ว ยังอิ่มเอมใจกับการได้เที่ยวชมและอุดหนุนผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมที่ชาวบ้านในชุมชนละแวกใกล้เคียงนำมาจัดจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น ผักผลไม้ปลอดสาร อาหาร เสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เกิดกระแสเงินหมุนเวียน และก่อให้เกิดรายได้ในครัวเรือน ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง

ซึ่งหลายจังหวัดในประเทศไทย ยังมีกิจกรรมทำบุญตักบาตรวันพระที่มีความโดดเด่น และกรมการศาสนาได้พยายามขยายผลและต่อยอดโครงการด้วยการเปิดจุดเช็คอินเสบียงบุญ ไหว้พระตักบาตร 10 แห่ง ซึ่งล้วนเป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมจากพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยว ทั้งสะท้อนความศรัทธาและความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น จึงขอเชิญชวนทุกท่าน ได้มาร่วมสืบสานวิถีพุทธ ด้วยกานพาครอบครัวหิ้วตะกร้า ทำบุญตักบาตร ไหว้พระเสริมสิริมงคล พร้อมเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในชุมชน ผ่านกิจกรรมดีๆในครั้งนี้ไปด้วยกัน