วิถีชีวิต

บุรีรัมย์ เกษตรกรที่ได้รับวัวในโครงการหลวงร้องถูกเรียกเก็บเงินซ้ำวัวป่วยก็ต้องจ่ายค่ารักษาเพิ่มอีก

เกษตรกร อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ที่ได้รับวัวในโครงการหลวง ร้องถูกเรียกเก็บเงิน 2,000 บาทอ้างเป็นค่าอาหารและดำเนินการ ซ้ำวัวมีสภาพไม่สมบูรณ์ล้มป่วยพอแจ้ง จนท.มาช่วยดูกลับบอกต้องจ่ายค่าผ่าตัดรักษาอีก 4,000 บาท เกษตรกรโอดผลักภาระยุ่งยากขอคืนวัวไม่อยากเลี้ยงต่อ

วันที่ 30 ส.ค. 2566 เกษตรกรบ้านป่ารัง ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ที่ได้รับวัวในโครงการหลวง หรือ (วัวพระราชทาน) ได้ออกมาร้องเรียน โดยอ้างว่าใครที่จับสลากได้รับวัวในโครงการหลวงดังกล่าว จะถูกเรียกเก็บเงินรายละ 2,000 บาท อ้างเป็นค่าอาหารและค่าดำเนินการ ทั้งวัวที่ได้รับมายังมีสภาพไม่สมบูรณ์ล้มป่วยพอแจ้งคณะกรรมการและ จนท. ให้มาช่วยดู กลับแจ้งว่าต้องเสียค่าผ่าตัดรักษาอีก 4,000 บาท ซึ่งเกษตรกรมองว่าเป็นการผลักภาระซ้ำเติมเกษตรกร เพราะปกติเกษตรกรคนที่ได้รับเลือกให้จับสลากรับวัวในโครงการหลวงดังกล่าว ก็มีฐานะยากจนอยู่แล้วแต่กลับถูกเรียกเก็บเงิน 2,000 บาท และหากวัวเจ็บป่วยยังเรียกเก็บค่ารักษาเพิ่มอีก เกษตรกรจึงไม่อยากเลี้ยงวัวในโครงการดังกล่าวต่อ ขอคืนวัวให้โครงการ และอยากให้ชี้แจงกรณีที่ต้องจ่ายเงินทั้งที่เป็นโครงการของหลวง หรือ(วัวพระราชทาน) ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

นายประจักษ์ อิงแอบ อายุ 37 ปี เกษตรกรรายหนึ่ง บอกว่า เมื่อปี 2522 ครอบครัวได้รับวัวในโครงการหลวง (วัวพระราชทาน) มาเลี้ยง ก็เข้าใจว่าเป็นโครงการหลวงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่กลับมีคณะกรรมการมาเรียกเก็บเงิน 2,000 บาท อ้างว่าเป็นค่าอาหารและค่าดำเนินการ ซึ่งก็ยอมจ่ายเพราะคิดว่าคนอื่นที่ได้รับวัวในโครงการก็คงจ่ายเหมือนกัน โดยมีกฎระเบียบเงื่อนไขโครงการว่า ถ้าวัวที่ได้รับมาเลี้ยงซึ่งเป็นวัวมาพันธุ์ มีลูกตัวเมียจะต้องคืนวัวให้โครงการเพื่อนำไปให้เกษตรกรรายอื่นต่อไป แต่ถ้ามีลูกตัวผู้ก็จะขายแล้วนำเงินเข้าหลวงเพื่อต่อยอดโครงการ แต่ต่อมาก็เกิดปัญหาอีกเมื่อวัวที่ได้รับเกิดอาการผิดปกติขาเดินไม่ได้ ตอนนี้มีลูกอายุ 3 เดือนก็ไม่สามารถให้นมลูกได้ พอแจ้งกรรมการไปว่าขอเปลี่ยนวัวตัวใหม่มาเลี้ยงได้หรือไม่ทางคณะกรรมการก็ไม่ยอม แล้วพอแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ให้มาช่วยดู เขาก็แจ้งว่าต้องผ่าตัดรักษาซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่าย 4,000 บาท ซึ่งครอบครัวก็เป็นแค่เกษตรกรฐานะยากจนอยู่แล้ว ก็ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย อีกอย่างเข้าใจว่าวัวโครงการหลวงจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งตั้งแต่ได้วัวมาเลี้ยงนอกจากจะต้องเสียเงินแล้ว ยังต้องมารับภาระรักษาวัวอีก ตอนนี้อยากคืนวัวให้โครงการทั้งแม่และลูกไม่อยากเลี้ยงต่อแล้ว แต่ก็อยากให้ตรวจสอบว่าวัวพระราชทานทำไมต้องเสียเงิน ซึ่งมีเกษตรกรหลายรายที่ถูกเรียกเก็บเงินแต่เขาไม่อยากมีปัญหาจึงไม่ออกมาพูด ตนจึงเป็นตัวแทนออกมาสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้น

ต่อมาผู้สื่อข่าว ได้สอบถามนายณรงค์ ฉกรรณ์ศิลป์ผู้ใหญ่บ้านป่ารัง บอกว่า หมู่บ้านนี้ได้รับวัวพระราชทานปี 2559 ตอนนั้นตนยังเป็นผู้ช่วย ผญบ. พอทำโครงการไปก็มีค่าดำเนินการต้อนรับวัว ตอนนั้นเก็บเงินคนละ 1,000 บาท เพิ่งมาเปลี่ยนเป็น 2,000 บาทเมื่อปีหลังๆ ซึ่งผู้ชายก็มีหน้าที่ไปเกี่ยวหญ้าให้วัวส่วนผู้หญิงก็มีหน้าที่ เอาหญ้าให้วัวกิน ส่วนกรณีเคสของชาวบ้านที่ร้องเรียนนั้น ตอนแรกวัวที่ได้รับก็มีสุขภาพแข็งแรงดี ก็ไม่รู้ว่าทำไมวัวจึงมีอาการผิดปกติ ซึ่งตามขั้นตอนก็ต้องแจ้งทางปศุสัตว์มาดำเนินการ ส่วนเรื่องการรักษาที่มีค่าใช้จ่าย 4,000 บาทนั้น ตนไม่ทราบ ส่วนที่เกษตรกรอยากจะคืนวัวให้โครงการ ก็ต้องขึ้นอยู่กับทางปศุสัตว์

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์ไปสอบถามปศุสัตว์อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ก็ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่าไม่ทราบเรื่องการเก็บเงิน 2,000 บาท แต่ทางปศุสัตว์อำเภอไม่มีนโยบายในการเรียกเก็บเงินใดๆ ส่วนกรณีที่เกษตรกรร้องเรียนก็จะได้ตรวจสอบอีกครั้ง ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร