มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่วัฒนธรรมทวราวดีเมืองฟ้าแดดสงยาง ด้วยการพัฒนาท่ารำสักการะพระธาตุยาคู เชื่อมโยงกับเรื่องราวของใบเสมาตามสมัยทวารวดี เมืองฟ้าแดดสงยาง ต้อนรับนักท่องเที่ยว และการรำแก้บน
ที่บริเวณองค์พระธาตุยาคู ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้มีการ แสดงการถ่ายทอดผลวิจัยสู่ชุมชนพื้นที่วัฒนธรรมทวารวดี เมืองฟ้าแดดสงยาง ภายใต้โครงการ “มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่” ด้วยการแสดงรำ ฟ้อนบูชาพระธาตุยาคูที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวของใบเสมาตามตำนานสมัยทวารดี และมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เหมาะสมกับชุมชน โดยมีนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ คณะอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ร่วมชมผลงานวิจัยครั้งนี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุขชัย เจริญไวยเจต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ สกสว ได้ทำงานวิจัยและพัฒนาพื้นที่ทางวัฒนธรรมทวารวดีเมืองฟ้าแดดสงยางกาฬสินธุ์ อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ด้วยการพัฒนาท่ารำสักการะพระธาตุยาคู ให้สอดคล้องกับศิลปวัฒนธรรม ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาท่ารำ โดยใช้แรงบันดาลใจจาก “ใบเสมาพิมพาพิลาป” ถ่ายทอดออกมาเป็นศิลปะการฟ้อนรำที่อ่อนช้อยเป็นมาตรฐานมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและเหมาะสมกับชุมชน โดยชุดการแสดงผลงานวิจัยครั้งนี้ มีการฟ้อนรำสักการะพระธาตุยาคู การฟ้อนรำเพื่อความเป็นสิริมงคล และการฟ้อนรำเพื่อใช้งานบุญประเพณีต่างๆ