หลายจังหวัดทางภาคเหนือประสบปัญหาน้ำท่วมหนัก แต่ที่จ.บุรีรัมย์ยังคงเผชิญภัยแล้งฝนทิ้งช่วงนาข้าวบางพื้นที่ขาดน้ำหล่อเลี้ยงเริ่มเหี่ยวแห้งตาย ขณะน้ำมูลซึ่งเป็นสายน้ำหลักที่ใช้ทั้งอุปโภคบริโภค เป็นแหล่งเลี้ยงปลากระชัง และหาปลาของชาวประมง กลับมีระดับต่ำต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน ส่งผลกระทบทำให้ต้องชะลอการเลี้ยงเพราะน้ำน้อยออกซิเจนไม่พอ ก่อนหน้านี้ปลาน็อกตายกว่า 20 ตันขาดทุนยับ วอนรัฐสำรวจสร้างเขื่อนยางแก้ปัญหายั่งยืน
(28 ส.ค.67) ถึงแม้ช่วงนี้หลายจังหวัดทางภาคเหนือกำลังประสบปัญหาน้ำท่วมหนัก แต่ที่จังหวัดบุรีรัมย์กลับยังเผชิญภาวะภัยแล้งฝนทิ้งช่วง นาข้าวบางพื้นที่ขาดน้ำหล่อเลี้ยงเริ่มเหี่ยวแห้งตาย ขณะน้ำในลำน้ำมูลที่ไหลผ่านอำเภอสตึก จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นสายน้ำหลักที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตทั้งอุปโภคบริโภค เป็นแหล่งเลี้ยงปลาในกระสัง และหาปลาเลี้ยงชีพของชาวประมง ปัจจุบันมีสภาพลดต่ำจนเห็นตอหม้อสะพาน ส่งผลกระทบกับชาวบ้านที่มีอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังส่งขายตลาด ต้องชะลอการเลี้ยงชั่วคราว เพราะหากเลี้ยงในช่วงที่น้ำน้อยไม่ไหลเวียน จะเกิดกรดแก๊ส ขาดออกซิเจนในน้ำทำให้ปลาน็อกตายได้ เพราะก่อนหน้านี้ปลาที่เลี้ยงเอาไว้ก็เกิดภาวะน็อกตายไปมากกว่า 20 ตัน ทำให้ผู้เลี้ยงถึงกับประสบปัญหาขาดทุน จึงยังไม่กล้าเสี่ยงที่จะเลี้ยงในช่วงนี้
นายวิชิต สุขไสย อายุ 41 ปี ชาวบ้านหมู่บ้านชาวประมงที่มีอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังมากว่า 30 ปี บอกว่า เมื่อก่อนจะเลี้ยงปลาในกระชังได้ปีละ 3 ครั้ง แต่หลังจากประสบปัญหาน้ำน้อย จึงลดลงมาเหลือปีละ 2 ครั้ง และปัจจุบันเหลือปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นปลานิล ปลาทับทิม เฉลี่ยลงทุนกระชังละประมาณ 3 หมื่นบาท ล่าสุดปลาน็อกตายมากถึง 20 ตันขาดทุนจำนวนมาก จึงชะลอการเลี้ยงไว้ก่อน แต่หากไม่ประสบปัญหาปลาน็อคตายและราคาดีก็จะขายได้เฉลี่ยกระชังละ 6 – 7 หมื่นบาท แต่หากประสบปัญหาปลาน็อคตายก็จะขาดทุน ซึ่งปัจจัยหลักในการทำอาชีพเลี้ยงปลากระสังก็คือน้ำหากมีน้ำเพียงพอก็สามารถเลี้ยงได้ตลอดปี จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาสำรวจและพิจารณาก่อสร้างเขื่อนยางเพื่อกักเก็บน้ำให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนด้วย
ขณะที่นายสมคิด เก่งนา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 12 ชุมชนประมง บอกว่า เมื่อก่อนหมู่บ้านชาวประมงมีชาวบ้านประกอบอาชีพเลี้ยงกระชังเกือบ 20 ราย หลังจากประสบปัญหาน้ำมูลลดต่ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปลาที่เลี้ยงไว้น็อกน้ำตายประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายคนเลิกเลี้ยงไปประกอบอาชีพอื่น ปัจจุบันเหลือแค่ 3 – 4 ราย ปริมาณที่เลี้ยงก็ลดลงเพื่อลดความเสี่ยงด้วย ส่วนที่เลี้ยงอยู่ก็ลดปริมาณลงเพราะก่อนหน้านี้เจอปัญหาปลาน็อกตายจำนวนมากทำให้ขาดทุน ปัจจัยหลักก็เกิดจากปริมาณน้ำน้อยเกิดกรดแก๊ส ออกซิเจนน้อย หลายคนจึงหันไปทำอาชีพอื่นแทนจนแทบไม่เหลือคนที่ทำอาชีพเลี้ยงกระชังแล้ว ก็อยากฝากให้หน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาสำรวจและก่อสร้างเขื่อนยางเพื่อกักเก็บน้ำให้ชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนด้วย