สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์ นำสื่อมวลชนทัวร์ “ออนซอนโคกหนองนาโมเดล”ติดตามความสำเร็จโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคกหนองนาโมเดล” ของเกษตรกรตำบลเจ้าท่า อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งพลิกผืนนาเป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างอาชีพ รายได้ ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ สร้างรายได้ แก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง บ้านหนองโจด หมู่ 10 ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ นายสัมฤทธิ์ กิตติโชติ สุขสงค์ นายอำเภอกมลาไสย นายมีชัย นาใจดี หัวหน้ากลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน และนางอุไลย์ ทบวัน เจ้าของศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชน จิตอาสา เกษตรกร และสื่อมวลชนร่วมกันเปิดป้ายศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน กรมพัฒนาชุมชน ภายใต้มาตรการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19
จากนั้น นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนางอุไลย์ ทบวัน เจ้าของศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง นำผู้ร่วมงาน และสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมความสำเร็จของศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ฯ พื้นที่จำนวน 5 ไร่ และลงพื้นที่ติดตามความสำเร็จของโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคกหนองนาโมเดล” พื้นที่จำนวน 15 ไร่ หลังมีปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการทำนาเชิงเดี่ยว เป็นการเกษตรที่หลากหลาย 3 เดือนสามารถเก็บผลผลิตจำหน่าย และมีรายได้เข้าครัวเรือน
นางอุไลย์ ทบวัน อายุ 48 ปี เจ้าของศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง และเกษตรกรต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการโคกหนองนาโมเดล พื้นที่จำนวน 15 ไร่ กล่าวว่า แต่เดิมใช้พื้นที่บริเวณที่นาหลังบ้าน จัดเป็นสวนครัว เน้นเกษตรอินทรีย์ โดยเข้ารับการอบรมเสริมทักษะและองค์ความรู้จากสำนักงานเกษตร มีการพัฒนาต่อยอดเป็นเกษตรผสมผสาน เช่น ปลูกข้าว พืชผักสวนครัว ไม้ผล เลี้ยงเป็ด เลี้ยงปลา ใช้เวลาประมาณ 7 ปี กิจกรรมในสวนเป็นรูปธรรม ประสบความสำเร็จ มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตเสริมเข้ามาในครัวเรือน ต่อมามีการพัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง เป็นศูนย์เครือข่ายเกษตรทฤษฎีใหม่ และแปลงต้นแบบโครงการ 1 ไร่ 1 แสน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และล่าสุดได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน ของกรมพัฒนาชุมชน ซึ่งมีพิธีเปิดป้ายศูนย์ฯ เป็นทางการในวันนี้
นางอุไลย์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคกหนองนาโมเดล” กับสำนักงานพัฒนาชุมชนนั้น เนื่องจากตนและเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ต.เจ้าท่า มีความเข้มแข็งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยมีว่างรากฐาน มีการรวมกลุ่มกันมาหลายปี จึงมีความพร้อมที่จะกล้าเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ จึงเข้าร่วมโครงการดังกล่าว มีการจัดพื้นที่เป็นโซนโคก หนอง นา โดยอาศัยน้ำจากคลองไส้ไก่ จาก 3 เดือนที่ร่วมโครงการ เห็นผลสำเร็จเกิดขึ้นในพริบตา โดยสามารถเปลี่ยนจากการทำนาเชิงเดี่ยว มาเป็นแหล่งผลิตภาคการเกษตรที่ครบวงจร เช่น ผลผลิตที่เป็น พริก มะเขือ ปลา นาข้าว ซึ่งสามารถเป็นอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน โดยในอนาคต ยังจะพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้เครือข่ายกลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์อีกด้วย
ด้านนายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลโดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคกหนองนาโมเดล” ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เฟสแรก 2,246 แปลง และจะมีแปลงใหม่เพิ่มเข้ามาอีก 302 แปลง รวม 2,748 แปลง ซึ่งอยู่ในส่วนของการเตรียมการเอามื้อสามัคคี และจัดซื้อครุภัณฑ์สำหรับแปรรูปผลผลิต
นายอุทัย กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคกหนองนาโมเดล” ที่ประสบความสำเร็จนั้น จากการติดตามผลพบว่าสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ภัยน้ำท่วม และความยากจนให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอย่างยั่งยืน ซึ่งในวันนี้ได้นำสื่อมวลชนใน จ.กาฬสินธุ์ จัดโครงการออนซอนโคกหนองนาแก้ปัญหายากจนน้ำท่วมภัยแล้งยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อติดตามความสำเร็จที่แปลงโคกหนองนา ของนางอุบล เกษตรกรบ้านโจด ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย ซึ่งมีแนวทางที่จะนำผลผลิตจำหน่ายในรูปแบบตลาดนัดสีเขียว และขยายผลสู่การสร้างชุมชนของเศรษฐกิจพอเพียงให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน และเป็นรูปธรรม
“ผลสำเร็จที่ติดตามมาจากการดำเนินการโครงการโคกหนองนา ยังสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่มากกว่าแปลงเกษตร การปลุกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังสามารถที่จะเปิดเสริมด้วยจุดเช็คอิน ร้านกาแฟ ที่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจระดับชุมชน สามารถสร้างงาน และรายได้ตลอดปี ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ยังได้ระดมสรรพกำลังและบูรณาการกับส่วนราชการต่างๆ ทั้งในส่วนของการผลิต การแปรรูป การตลาด เพื่อขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคกหนองนาโมเดล” ให้เกิดความมั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยเกษตรปลอดภัย ตามวิสัยทัศน์ของ ผวจ.กาฬสินธุ์ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างรายได้ ลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19” นายอุทัยกล่าวในที่สุด