ชาวบ้านตำบลนามะเขือ ร่วมฝังไมโครชิฟ และติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดเพื่อรักษาป่าพะยูง กว่า 34 ต้น รอบโรงเรียนชุมชนนามะเขือวิทยา เชื่อจะรักษาป่าพะยูงไว้เป็นประโยชน์กับลูกหลานในอนาคตได้
วันที่ 12 ก.พ. 63 ที่โรงเรียนชุมชนนามะเขือวิทยา ว่าที่ร้อยโทอุทิศ คงรอด นายอำเภอสหัสขันธ์ เป็นประธานในกิจกรรมร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจพิทักษ์ อนุรักษ์ไม้พะยูง โดยการติดตั้งไมโครชิฟ และติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด แทนการเฝ้ายามของชุมชนและชาวบ้าน ตลอด 24 ชม. ที่ทำมานานเกือบ 3 เดือน โดยมีนางสมประสงค์ สุพัฒนาพงศ์ นายก ทต.นามะเขือ นายนายสุรพงษ์ มงคลธรัก รอง ผอ.สพป.กาฬสินธุ์ เขต 1 นายสมจิตร จำปาสาร ผอ.โรงเรียนชุมชนนามะเขือวิทยา สถานีตำรวจภูธรสหัสขันธ์ ฝ่ายปกครองอ.สหัสขันธ์ และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
นางสมประสงค์ สุพัฒนาพงศ์ นายก ทต.นามะเขือ กล่าวว่า ในเขตโรงเรียนชุมชนนามะเขือวิทยา เดิมมีต้นพะยูง ทั้งหมด 36 ต้น อายุกว่า 50 ปี ในช่วงปี 61-62 มีการลักลอบตัดต้นพะยูงไปสองต้น ซึ่งหลังจากที่ตัดต้นพะยูงต้นแรง ชาวบ้านได้หารือกันทำพิธีบวชป่า โดยนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ พระเกจิชื่อดังมาทำพิธี แต่ผ่านไปไม่ถึง 2 อาทิตย์ ต้นพะยูงอีกต้นก็ถูกตัดอีก เรียกว่าทำแบบไม่กลัวบาปกรรม ทางด้าน ผอ.ร.ร. ได้นำเรื่องเข้ามาหารือ ทางเทศบาลฯจึงได้จัดประชุมชาวบ้านเพื่อหาทางแก้ไขและป้องกันระยะยาว จนกระทั่งมีการจัดเวรยามเฝ้าในเวลากลางคืนเป็นเวลาเกือบ 3 เดือน ซึ่งการฝังไมโครชิฟจะทำให้ทราบว่าต้นพะยูงเป็นของที่ไหนจากการอ่านค่ารหัสตัวเลข
“เดิมทีทางชาวบ้านได้ลงมติที่จะติดกล้องวงจรปิดเท่านั้น นายอำเภอสหัสขันธ์ จึงแนะนำให้ติดตั้งไมโครชิฟ ซึ่งเป็นนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทั้งระบบ ชาวบ้าน ศิษย์เก่าและผู้มีจิตศรัทธา จึงได้จัดทำผ้าป่าเพื่อหางบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์กล้องวงจรปิด อุปกรณ์ติดตั้งไมโครชิฟ และงบประมาณสนับสนุนในการจัดกิจกรรมเฝ้ายามและดูแลป่าพะยูงผืนนี้ โดยหวังให้ป่าพะยูง ของโรงเรียนชุมชนนามะเขือวิทยา เป็นแหล่งเรียนรู้ป่าไม้ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป” นายก ทต.นามะเขือ กล่าว
นายสุรพงษ์ มงคลธรัก รอง ผอ.สพป.กาฬสินธุ์ เขต 1 กล่าวว่า สำหรับการจัดการแก้ปัญหาของโรงเรียนชุมชนนามะเขือวิทยา เป็นต้นแบบที่ดีของบ้าน วัด และโรงเรียน ที่ร่วมมือกันด้วยความเข้มแข็งแสดงถึงความสามัคคี ซึ่งชุมชนอื่น ๆ น่าจะเอาเป็นแบบอย่าง โดยทาง สพป.กาฬสินธุ์ เขต 1 เพราะในหลายโรงเรียนมีต้นไม้พะยูง และไม้เศรษฐกิจจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการลักลอบเข้ามาตัดในสถานศึกษาเป็นข่าวอยู่หลายครั้ง ทั้งนี้ได้เล็งเห็นว่าแนวทางการฝังไมโครชิฟจะเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา ที่โรงเรียนอื่น ๆ น่าจะนำไปใช้ด้วย