จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์ และเครือข่ายศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ชูแปลงเกษตรผู้ใหญ่บ้านหนองบัวน้อย ตำบลหนองตอกแป้น อำเภอยางตลาด นำร่องโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโคก หนอง นา โมเดล สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ แก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน
วันที่ 12 มีนาคม 2563 ที่แปลงนานายสมควร ภูแข่งหมอก บ้านหนองบัวน้อย หมู่ที่ 3 ต.หนองตอกแป้น อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร รองผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงด้วย โคก หนอง นาโมเดล กิจกรรม “เอามื้อ สามัคคี” และเปิดป้ายศูนย์ปราชญ์ โคก หนอง นา โมดล ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนจ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับเครือข่ายมูลนิธิศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ จัดขึ้น เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม มีการลงแปลงเรียนรู้ ลงมือปฏิบัติจริง อาทิ การปลูกต้นไม้ การขุดคลองไส้ไก่และหลุมขนมครก ปลูกหญ้าแฝก การห่มดินตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ โดยมีนายผดุงศักดิ์ อิ่มเอิบ นายอำเภอยางตลาด นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ นายสุนทร พหลทัพ พัฒนาการ อ.ยางตลาด และเกษตรกร ชาวบ้าน เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
นายสนั่น พงษ์อักษร รองผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า โคก หนอง นาโมเดล เป็นทฤษฎีหนึ่งที่มีแนวทางชัดเจนในการสร้างความกินดี อยู่ดี และมองไปถึงการแก้ไขปัญหาสาธารณภัยทั้งภัยแล้ง และอุทกภัย ในส่วนของ จ.กาฬสินธุ์ จัดโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโคก หนอง นา โมเดล กิจกรรม “เอามื้อ สามัคคี” หรือการลงแขก ทำกิจกรรมร่วมกัน สร้างความรัก ความสามัคคี “โคก หนอง นา โมเดล” แบ่งพื้นที่เป็นโคก ใช้ปลูกป่า 5 อย่าง ประโยชน์ 5 อย่าง, หนอง เป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ใช้เพื่อการเกษตร และนา เป็นพื้นที่กว้างในนามีแนวคูรอบ ๆ เป็นที่เลี้ยงปลา คันนากว้างไว้ปลูกผักสวนครัว เพื่อรายได้ให้กับเกษตรกร สำหรับจ.กาฬสินธุ์มีผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวประมาณ 290 ราย
ด้านนายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน ให้พออยู่ พอกิน ซึ่งโคก หนอง นา โมเดล เป็นอีกแนวทางในการขับเคลื่อนที่สำคัญ เพราะมีหลายมิติ การคือการดำรงชีวิตแบบพออยู่ พอกิน มิติสังคม การลงแขก การช่วยเหลือ เกิดเครือข่ายสานสายใยความรู้กัน โคก หนอง นา โมเดล ทุกคนต้องมีใจเป็นหลัก อยากทำ มีปรับเปลี่ยนการทำงานแบบผสมผสานเกิดการเรียนรู้ โดยใช้หลักการบริหารพื้นที่ น้ำ ฟ้า ป่า อากาศ อันจะนำไปสู่ความกินดี อยู่ดี มีรายได้เลี้ยงตัวเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ โครงการโคก หนอง นา โมเดล ยังจะเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ แก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนอีกด้วย