นายอำเภอสหัสขันธ์ ร่วมกับประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดหอประชุมอำเภอ นำปลานิลสดๆ กว่า 2 ตัน พร้อมกุ้งก้ามกราม ออกจำหน่ายให้กับประชาชนในพื้นที่อ.สหัสขันธ์ โดยนายอำเภอสหัสขันธ์ พร้อมส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยขายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทำให้มีปลากระชังไม่ได้ส่งตลาดกว่า 200 ตัน
เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 63 ที่หอประชุมอำเภอสหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ นายตระกูล หนูนิล นายอำเภอสหัสขันธ์ พร้อมด้วยนายวุฒิชัย วังคะฮาต ประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ นางสาวกฤษณา เขามีทอง ประมงอำเภอสหัสขันธ์ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันจำหน่ายปลานิลที่เลี้ยงในกระชังของเกษตรกรอ.สหัสขันธ์ ที่ลดราคาเหลือเพียง กก.ละ 50 บาท และกุ้งก้ามกราม กก.ละ 250 บาท หลังเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาและเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาโรคโควิด-19 โดยจุดอำเภอสหัสขันธ์จำหน่ายปลาได้ 1,110 ก.ก. และกุ้งก้ามกรามอีก 150 กก. โดยนายสมบูรณ์ ไชยศรี สาธารณสุขอำเภอ ได้ตั้งจุดคัดกรองตรวจวัดไข้ จุดล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ สำหรับประชาชนผู้เข้าซื้ออย่างเข้มข้นเนื่องจากมีประชาชนสนใจจำนวนมาก
นายฐิติพงษ์ รินโพธิ์สาน ตัวแทนเกษตรกร กล่าวว่า เกษตรกรในพื้นที่อ.สหัสขันธ์ กว่า 30 ราย เป็นการจับกลุ่มเลี้ยงด้วยกัน มีบริษัทเอกชนให้การสนับสนุนส่งเสริมการเลี้ยงปลากระชัง ขณะนี้มีปริมาณปลาที่ไม่ได้ออกจำหน่ายช่วงนี้กว่า 200 ตัน จึงได้หารือกันระหว่างบริษัทและเกษตรกร ได้ตลกลงในการออกจำหน่ายปลาตามชุมชนต่าง ๆ ในราคา กก.ละ 50 บาท และทางบริษัทชดเชยให้เกษตรกรอีกกก.ละ 10 บาท จึงได้ร่วมกับทางประมงอำเภอสหัสขันธ์ และประมงจ.กาฬสินธุ์ ออกจำหน่ายปลาตามหมู่บ้านที่ห่างไกล เขตชนบท ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความสนใจเป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้ก่อนที่จะไปออกจำหน่ายได้ประสานไปยัง อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสาธารณสุขในพื้นที่ช่วยตั้งจุดคัดกรองเพื่อความปลอดภัยของผู้ซื้อและผู้ขายในช่วงโควิด-19 นี้ด้วย
ด้านนายวุฒิชัย วังคะฮาต ประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังและผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาของโรคโควิด-19 ปลากระชังจำนวนมากไม่สามารถส่งออกตลาดตามเป้าที่วางไว้ อีกทั้งการงดจัดประเพณีสงกรานต์ ยิ่งทำให้ตลาดปลานิลมีปัญหาหนักมาก เพราะแต่เดิมปลานิล ซึ่งจะนำมาทำปลาเผา ปลานึ่งมะนาว เมี่ยงปลา เป็นเมนูอาหารยอดฮิต โดยปัจจุบันพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังทั้งหมด 451 ราย มีพื้นที่เลี้ยง172.3 ไร่ จำนวน 12,390 กระชัง ผลผลิตกว่า 13,688 ตันต่อปี มูลค่ากว่า 821 ล้านบาท ขณะที่กุ้งก้ามกราม แหล่งเลี้ยงขาดใหญ่ที่สุดในประเทศพื้นที่เลี้ยงกว่า 4,548 ไร่ เกษตรกรกว่า 1,154 ราย ผลผลิต 1,545 ต้นต่อปี มูลค้ากว่า 386 ล้านบาท
ทั้งนี้ในช่วงปัญหาโควิดที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้เงินที่เคยสะพัดกว่า 400 – 500 ล้านบาท นั้นขาดหายไป ซึ่งทำให้เป็นผลจากการปิดตลาด ไม่มีประเพณีสงกรานต์ และร้านค้าร้านอาหารในพื้นที่ปิดให้บริการ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถส่งปลาออกจำหน่ายตามที่ตั้งเป้าไว้ ทั้งยังทำให้เกษตรกรเสี่ยงขาดทุน สิ่งที่ประมงช่วยเหลือได้เวลานี้คือการการระบายผลผลิตของเกษตรกร โดยการกระจายออกจำหน่ายในราคาย่อมเยา โดยนำร่องที่อ.สหัสขันธ์ พบว่าได้รับกระแสตอบรับดี เกษตรกรก็พอยิ้มได้บ้างแม้จะขาดทุนก็ยังขาดทุนเล็กน้อยดีกว่าขาดทุนแบบ100% อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานประมง จ.กาฬสินธุ์ จะจัดคลิกออฟ กระจายจุดจำหน่ายไปทั่วทั้ง 18 อำเภอ เพื่อบริการประชาชนไม่ต้องออกไปตลาดอยู่บ้านรอซื้อจากเจ้าหน้าที่โดยตรง โดยทุกจุดซื้อขายจะมีมาตรการเข้มในการคัดกรองประชาชนทั้งการตรวจวัดไข้และการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกพื้นที่ที่เดินทางไปจำหน่าย