ชาวบ้านนอกเขตชลประทาน ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ยังได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนาน 6 เดือน ทำให้เสียโอกาสในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและสร้างรายได้ เผยเคยรวมตัวเรียกร้องขอบ่อบาดาลกับทางราชการ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำยั่งยืน แต่ยังไม่ได้รับการเหลียวแล
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามการประกอบอาชีพของประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงรอยต่อฤดูแล้งกับฤดูฝน พบว่าในโซนที่อาศัยในเขตใช้น้ำชลประทานลำปาว ต่างเริ่มลงมือทำนากันแล้ว โดยส่วนมากนิยมทำนาหว่าน ขณะที่ในส่วนของผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามนั้น หลังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ได้ปล่อยน้ำนอนคลอง ก็ได้สูบน้ำหล่อเลี้ยงบ่อกุ้งตามปกติ หลังจากปิดการส่งน้ำเพื่อซ่อมแซมคูคลองมา 1 เดือน อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่นอกเขตใช้น้ำชลประทาน ยังรอคอยน้ำฝนจากฟ้า เนื่องจากยังไม่ตกลงมาขังในไร่นา ท้องนาที่คราดไถและเตรียมหว่านข้าว จึงยังแห้งแล้ง และอยู่ในระหว่างรอฝนต่อไป
นางจิตตานันท์ สุริยะพงษ์ธร อายุ 48 ปี บ้านเลขที่ 89 หมู่ 5 บ้านโคกแง้ ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เป็นพื้นที่อยู่นอกเขตชลประทาน ตนและเพื่อนบ้านประกอบอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ แต่ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ทั้งนี้ตนมีที่ทำกิน 20 ไร่ จึงแบ่งโซนทำการเกษตรผสมผสาน หลายชนิด ทั้งทำนา ปลูกมะม่วง มะแว้ง มะนาว ไผ่กิมซุง ปลูกผักสวนครัว ถั่วลิสง เลี้ยงปลา เป็ด ไก่ ฝนดีก็พอได้ผลผลิตไว้กินในครัวเรือนและจำหน่ายในชุมชนบ้าง แต่ปีไหนที่ฝนแล้ง พืชผลก็ได้รับความเสียหาย ต่อมาจึงลงทุนขุดบ่อในพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ เพื่อกักเก็บน้ำฝนและสำรองไว้ใช้รดพืชผักในฤดูแล้ง นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่จะยกระดับเป็นศูนย์เทคโนโลยีถ่ายทอดการเกษตร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประจำตำบลด้วย โดยนำระบบน้ำสปริงเกอร์และน้ำหยดมาใช้ แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากในฤดูแล้งน้ำไม่เพียงพอ
นางจิตตานันท์ กล่าวอีกว่า เมื่อประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก และฝนทิ้งช่วงติดต่อกันทุกปีตนและเพื่อนบ้าน ได้ร่วมกันเขียนโครงการขอรับการสนับสนุนบ่อบาดาลพลังงานโซลาเซลล์จากส่วนราชการ เพื่อทำการเกษตรแปลงใหญ่ หวังให้ชาวบ้านได้มีน้ำจากใต้ดินใช้ประโยชน์ มีอาชีพ ไม่ว่างงาน แต่ผ่านมา 2-3 ปียังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งก็ได้แต่รอและเข้าสอบถามความคืบหน้า จึงยังไร้วี่แววว่าจะได้รับความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คนตกงานเยอะ อยู่บ้านใช้น้ำสิ้นเปลืองมากขึ้น น้ำประปาในหมู่บ้านจึงไม่ค่อยจะเพียงพอต่อการใช้สอย ถึงแม้ช่วงนี้จะมีฝนตกลงมาบ้าง แต่ก็ตกเป็นหย่อมๆ ไม่ทั่วฟ้า ไม่มีน้ำขังพอที่จะทำการเกษตรได้ ตนและเพื่อนบ้านจึงจะเดินหน้าร้องขอบ่อบาดาลกันต่อไป เพื่อที่จะได้น้ำมาทำการเกษตร และเพื่อการอุปโภคบริโภค เพราะการเกษตรกรรมเท่านั้น ที่จะแก้ปัญหาปากท้อง และความยากจนให้กับชาวบ้านได้
ด้านนายคำพันธ์ แก่นนาคำ อายุ 78 ปี บ้านเลขที่ 5 หมู่ 4บ้านหนองกาว ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า บ้านหนองกาว ต.นาเชือก อยู่ในโซนที่สูง ติดต่อกับบ้านโคกแง้ ต.เขาพระนอน ใช้น้ำจากบ่อบาดาลหมู่บ้าน เป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับการอุปโภคบริโภค ที่ผ่านมาในฤดูแล้งประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถที่จะทำการเกษตรได้ โดยตนมีพื้นที่ 5 ไร่ สำหรับทำการเกษตรผสมผสาน เพื่อประหยัดรายจ่าย เพิ่มรายได้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่ระยะหลังแทบจะไม่ได้ปลูกพืชอะไรเลย เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงนานหลายเดือน อย่างไรก็ตามหากได้รับการช่วยเหลือจากทางราชการ ในการขุดบ่อบาดาลสูบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และวางระบบจ่ายน้ำให้เกษตรกรอย่างทั่วถึง คาดว่าจะแก้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซากได้อย่างยั่งยืน