ผู้สูงอายุในตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ รวมตัวจัดตั้งกลุ่มจักสานด้วยไม้ไผ่ เป็นโรงเรียนสอนเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ ใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนตะกร้าไม้ไผ่ เพื่อบรรจุสิ่งของ ขานรับนโยบายรัฐบาลลดการใช้ถุงพลาสติก กล่องโฟม ขายตลอดปี
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 ที่ศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ท้องถิ่น บ้านเชียงงาม หมู่ 22 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายสมพร สุวรรณเรือง ผู้ใหญ่บ้านเชียงงาม พร้อมด้วยนายทองอินทร์ ภูมิช่อ ประธานศูนย์ปราชญ์ท้องถิ่น นายสมัย ภูทัดฝน วิทยากรประจำศูนย์ปราชญ์ท้องถิ่น และผู้สูงอายุ ได้รวมตัวกันผลิตเครื่องจักสานจากลำไม้ไผ่ ทั้งนี้ เป็นการรวมตัวของผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ในการใช้เวลาว่างผลิตเครื่องจักสานไว้จำหน่าย ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปทำนา โดยมีผู้ปกครองนำบุตรหลานที่สนใจและอยู่ในช่วงปิดเทอมช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ร่วมเรียนรู้วิธีการจักสานและประดิษฐ์ของใช้จากไม้ไผ่ด้วย
นายทองอินทร์ ภูมิช่อ ประธานศูนย์ปราชญ์ท้องถิ่น กล่าวว่า เดิมตนเป็นปราชญ์ด้านการเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยจัดพื้นที่สวนและที่นาทำการเกษตรครบวงจร ก่อนที่จะมีการต่อยอดและขยายเครือข่าย เกิดการรวมตัวของภูมิปัญญาท้องถิ่นหลายแขนง เช่น ด้านดิน ด้านปุ๋ย ด้านพืช รวมทั้งด้านภูมิปัญญาจักสานด้วยไม้ไผ่ เป็นสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน และสินค้าจำหน่ายหลายชนิด เช่น ตะกร้า กระติบใส่ข้าว ข้อง ไซ กล่องโคมไฟประดับบ้าน สุ่มขังไก่ เข่งใส่กุ้ง เป็นต้น บางคนก็ทำที่บ้าน บางครั้งก็ชักชวนกันมาทำที่ศูนย์ปราชญ์ จากนั้นนำผลิตภัณฑ์ได้มารวบรวมไว้ที่ศูนย์ เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนที่สนใจหรือในช่วงมีตลาดนัด สินค้าโอทอป ก็จะนำไปจำหน่ายด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการขานรับนโยบายรัฐบาล ในการลดใช้ถุงพลาสติก กล่องโฟม เพื่อลดปริมาณขยะ โดยใช้ตะกร้าทดแทน สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นการใช้เวลาว่างของเด็กๆระหว่างปิดเทอมช่วงโรคโควิด-ระบาดให้เกิดประโยชน์อีกด้วย
ด้านนายสมัย ภูทัดฝน อายุ 78 ปี บ้านเลขที่ 132 หมู่ 22 วิทยากรประจำศูนย์ปราชญ์ฯ กล่าวว่า ตนสืบทอดภูมิปัญญาการจักสานไม้ไผ่มาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ ตั้งแต่การเลือกลำไม้ไผ่มาตัดและจักเป็นเส้นตอก สำหรับจักสานอุปกรณ์เครื่องใช้ ทั้งใช้เองในครัวเรือนและจำหน่าย มีรายได้ตลอดปี เช่น ตะกร้าใบเล็กราคา 50-120 บาท เข่งใส่กุ้งก้ามกรามใบละ 500-700 บาท นอกจากนี้ ยังได้รับการคัดเลือกจาก กศน. และสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ เป็นวิทยากรอบรมด้านการจักสานด้วย ทั้งนี้ สำหรับประชาชน เยาวชนที่สนใจอยากฝึกฝนเรียนรู้การจักสาน ตนก็ยินดีถ่ายทอดให้ โดยไม่เสียค่าบริการ เพราะตั้งใจจะอนุรักษ์ไว้ และอยากให้ลูกหลานได้สืบสานตลอดไป เพราะได้ทั้งของใช้และเกิดรายได้ด้วย ซึ่งวันนี้ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปทำนา ได้ใช้เวลาว่างรวมกลุ่มกันจักสาน เพื่อนำผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานไว้จำหน่ายที่ศูนย์ และถือเป็นโอกาสฝึกสอนการจักสานให้ลูกหลานที่สนใจอีกด้วย
ขณะที่เด็กชายกรตะวัน สุวรรณเรือง อายุ 11 ปี บ้านเลขที่ 222 หมู่ 22 บ้านเชียงงาม นักเรียนชั้น ป.5 กล่าวว่า จากการที่ตนเห็นผู้สูงอายุในหมู่บ้าน รวมกลุ่มจักสานผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ และยังมีมูลค่าขายได้เงินด้วย จึงเกิดการซึมซับอยากจักสานเป็น และอยากมีรายได้ เพราะเป็นงานที่ไม่หนัก สามารถทำได้ที่บ้าน วัสดุหลักที่ใช้ในการผลิตคือไม้ไผ่ ก็หาได้ในท้องถิ่น และแทบจะไม่ได้ซื้ออุปกรณ์เพิ่มเลย จักสานได้ชิ้นงานก็เกิดรายได้ทันที ทั้งนี้ทราบว่าแต่ละชิ้นราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 50-1,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและความยากง่าย รู้สึกภาคภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการจักสานเป็นอย่างมาก จึงได้มาฝึกหัดการจักตอกและหัดสานตะกร้าขั้นพื้นฐาน โดยตั้งใจว่าจะขอเป็นอีกคนหนึ่ง ในการสืบสานภูมิปัญญาด้านการจักสานนี้ ในช่วงที่ยังไม่เปิดเรียน เพราะปิดเทอมช่วงโรคโควิด-19 แพร่ระบาดจึงมาหัดจักสานกับผู้สูงอายุ และหากมีโอกาสก็จะชวนเพื่อนๆมาร่วมฝึกหัดด้วย เพราะเห็นประโยชน์หลายอย่าง โดยเฉพาะหากจักสานจนเกิดความชำนาญ และมีการพัฒนาฝีมือ ก็จะเกิดรายได้ สามารถนำมาเป็นทุนการศึกษา ลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครองอีกทางหนึ่ง