ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ติดตามผลการดำเนินโครงการยุวชนอาสาของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พร้อมเตรียมต่อยอดโครงการ “ยุวชนอาสา” ผลักดันนักศึกษาสู่การเป็นผู้ประกอบการ “ยุวสตาร์ทอัพ” กระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัด ภายใต้ “แผนงานยุวชนสร้างชาติ”
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 ที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์กาฬสินธุ์ พื้นที่ในเมือง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และคณะตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินโครงการยุวชนอาสา ระยะที่ 1 โดยมีนายชัยธวัช เนียมศิริ ผวจ.กาฬสินธุ์ รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงศ์ ประธานสันนิบาตสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พล.ต.ต.สมนึก มิควาฬ ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ นายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ พ.ต.อ.ปริญญา คำเจริญ ผกก.สภ.เมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยคณาจารย์ บุคคลากร นักศึกษา ร่วมต้อนรับ พร้อมจัดนิทรรศการและนำเสนอผลการดำเนินงาน
จากนั้น ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมและติดตามดำเนินโครงการยุวชนอาสา ยกระดับบริการบ้านพักชุมชนสู่การเป็นโฮมสเตย์มาตรฐานประเทศไทย ที่หมู่บ้านท่องเที่ยวนวัตวิถีโดยชุมชนบ้านหนองแวงภูปอ ต.ภูปอ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ โดยมีผู้นำชุมชน ชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษา ให้การต้อนรับและนำผลิตภัณฑ์ชุมชน พร้อมจัดแสดงความสามารถและการละเล่นพื้นบ้าน ทั้งนี้ ยังได้เปิดบ้านพักโฮมสเตย์ให้ ดร.สุวิทย์ และคณะ สำรวจความพร้อมและความเรียบร้อยด้วย ก่อนที่จะเดินทางไปติดตามโครงการจ้างงานผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมภูสิงห์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ต.ภูดิน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ เป็นจุดสุดท้าย
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า โครงการยุวชนอาสา เป็นการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับศตวรรษที่ 21 ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการปฏิบัติงานได้จริง นำองค์ความรู้ที่หลากหลายมาบูรณาการแก้ไขปัญหาพัฒนาชุมชนในมิติต่างๆ ผลักดันนักศึกษาสู่การเป็นผู้ประกอบการ “ยุวสตาร์ทอัพ” กระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้แผนงานยุวชนสร้างชาติของกระทรวง อว. ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพอย่างยั่งยืน ซึ่งในการลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินโครงการยุวชนอาสา ระยะที่ 1
ด้าน รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า โครงการยุวชนอาสา เป็นโครงการที่ทำงานร่วมกับชุมชน โดยมีนิสิต นักศึกษา จากหลากหลายสาขารวมกลุ่มกัน ลงไปศึกษาวิเคราะห์ประมวลผล เพื่อนำมาวางโครงงาน และนำองค์ความรู้ที่หลากหลายในสถาบันอุดมศึกษา มาบูรณาการในการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัด และเป็นการปฏิรูปการเรียนการสอนที่ให้นักศึกษาได้ลงปฏิบัติงานจริง ลงพื้นที่จริง สัมผัสกับปัญหาจริง ภายใต้การให้คำปรึกษาของอาจารย์ เป็นการนำเอาความรู้ที่เรียนมาไปพัฒนาและแก้ไขให้กับชุมชนให้เกิดเป็นรูปธรรม
รศ.จิระพันธ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้โครงการดังกล่าว ยังเป็นการปฏิรูปการเรียนการสอน โดยการเอานักศึกษาลงไปเรียนจริงกับพื้นที่จริง เอาอาจารย์ลงพื้นที่ไปหาโจทย์ปัญหาจากพื้นที่จริงๆ แทนที่เราจะเรียนอยู่ในห้องเรียน เราก็ลงไปเรียนในพื้นที่ที่เป็นองค์ความรู้เป็นแหล่งความรู้ต่อไป ครู อาจารย์ต้องกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดการอยากรู้อยากเรียน อยากปฏิบัติ อยากเป็นนักธุรกิจ อยากเป็นผู้ประกอบการ เพราะฉะนั้นการเรียนที่อาจารย์สอนบรรยายอยู่หน้าห้องอาจจะต้องลดน้อยลงไป ต่อไปคงเป็นเรื่องการทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมา ยกระดับผลิตภัณฑ์ ดูเรื่องบัญชีรายรับ รายจ่าย ดูมูลค่าเพิ่ม ดูการตลาดแล้ว ระหว่างที่นักศึกษาลงไปทำกิจกรรมเหล่านี้ ก็จะเกิดความคิดกลายเป็นยุวสตาร์ทอัพ และเตรียมต่อยอดโครงการ “ยุวชนอาสา” ผลักดันนักศึกษาสู่การเป็นผู้ประกอบการ “ยุวสตาร์ทอัพ” กระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัด ภายใต้ “แผนงานยุวชนสร้างชาติ” ต่อไป
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้ดำเนินโครงการจำนวน 34 โครงการ มีนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 300 คน เกี่ยวข้องกับหลายมิติ เช่น การเกษตร การท่องเที่ยว ธุรกิจเอสเอ็มอี ผลิตภัณฑ์ชุมชน การค้าขายออนไลน์ และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Commerce โดยบูรณาการความรู้ที่หลากหลายศาสตร์จากทั้ง 6 คณะในมหาวิทยาลัย ในการเข้าไปส่งเสริมและพัฒนาชุมชนเป้าหมาย นอกจากนั้นยังได้จัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การสำรวจข้อมูลพื้นฐานของชุมชน การร่วมกันกำหนดประเด็นเพื่อการพัฒนา ส่งเสริมการขายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น รวมทั้งได้จัดกิจกรรมเพื่อลดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ร่วมกับชุมชน เช่น อบรมทำหน้ากากอนามัยจากวัสดุในท้องถิ่น และทำเจลล้างมือร่วมกับชุมชนอีกด้วย
สำหรับโครงการยุวชนอาสา เป็นโครงการที่ให้นักศึกษาหลากหลายสาขารวมกลุ่มกันเพื่อบูรณาการความรู้ในการแก้ไขปัญหาในชุมชน ทั้งนี้มีอาจารย์และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เป็นที่ปรึกษา โดยให้นักศึกษาลงไปทำงานในพื้นที่จำนวน 1 ภาคการศึกษา และประเมินผลการเรียนการสอนจากการทำงาน ดำเนินการในระยะที่ 1 ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2562 – กันยายน 2563 นำร่องที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยมีโครงการที่เข้าร่วมทั้งหมดจำนวน 83 โครงการจากจำนวน 7 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มีนิสิต/นักศึกษาจำนวนมากกว่า 800 คน เข้าร่วมโครงการ และมีอาจารย์จาก สถาบันอุดมศึกษาเป็นที่ปรึกษาร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้นิเทศ งานและแนะนำให้กับกลุ่มนิสิต/นักศึกษา ซึ่งมีชุมชนเป้าหมายใน 60 ตำบล 15 อำเภอ ใน จ.กาฬสินธุ์