ข่าวการเมือง

หนองคาย รมว.ดีอีชูศูนย์ดิจิทัลชุมชน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่หนองคายชูศูนย์ดิจิทัลชุมชน และโดรนวิถีใหม่หนองคาย ต้นแบบพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล

นายประเสริฐ  จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี พร้อมด้วยนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวง ร่วมการลงพื้นที่ตรวจราชการในการประชุมคณะรัฐมนตรีคณะรัฐมนตรี อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2566 ณ จังหวัดหนองบัวลำภู และติดตามการตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วย จังหวัดบึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานีระหว่างวันที่ 3 – 4 ธันวาคม 2566 รมต.ดีอี และคณะได้ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย 2 โครงการ ประกอบด้วย  โครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลโพธิ์ตาก ณ องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ตาก อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.)ซึ่งโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์ให้เป็นพื้นที่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในชุมชนอย่างแท้จริง ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลสร้างสรรค์กิจกรรม เสริมทักษะดิจิทัล และส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นออนไลน์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในสังคมดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล รวมถึงลดการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลของประชาชนทุกคนในชุมชนให้มีความสามารถด้านดิจิทัลอย่างทั่วถึง

สำหรับการดำเนินงานโครงการได้ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพสูงครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับทุกคนในชุมชน โดยได้จัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชนในสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น วัด มัสยิด โรงเรียน สถานที่ราชการในท้องถิ่น และชุมชนที่เหมาะสม กระจายอยู่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 500 แห่ง และในปี 2566 ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชนเพิ่มเติมอีก 1,722 แห่ง รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,222 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลโพธิ์ตาก จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนและเยาวชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ส่งเสริมทักษะความรู้ตลอดชีวิต รวมถึงเป็นพื้นฐานในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในชีวิตประจำวันและใช้ในการประกอบอาชีพ โดยศูนย์ฯ แห่งนี้ได้เป็นพื้นที่ของการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรดิจิทัล การจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ด้านดิจิทัลให้แก่เยาวชน กิจกรรมส่งเสริมการเรียนการสอนให้แก่เด็กปฐมวัย รวมไปถึงใช้เป็นสถานที่ในการจัดประชุมและวางแผนงานต่างๆ ในระดับชุมชน นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่ในการส่งเสริมการสร้างอาชีพค้าขายออนไลน์ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมดั้งเดิมของตำบลโพธิ์ตาก โดยมีการเปิดให้บริการถ่ายรูปสินค้าให้กับประชาชนที่สนใจนำสินค้าในชุมชนไปค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยร่วมมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ผ่านเว็บไซต์ www.thailandpostmart.com
     

ส่วนในช่วงบ่าย ได้ไปตรวจติดตาม โครงการโดรนเกษตรวิถีใหม่ ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรครบวงจรบ้านดงนาคำ  ต.หนองนาง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ดำเนินการโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า โครงการนี้ เพื่อส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล ยกระดับชุมชนด้วยเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร โดยตั้งเป้าสร้างศูนย์บริการซ่อมบำรุง ฉีดพ่น จัดจำหน่ายโดรนการเกษตรในพื้นที่ภาคอีสานจำนวน 16 ศูนย์จาก 50 ศูนย์ทั่วประเทศ ชุมชนในพื้นที่ภาคอีสานมีการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรจำนวน 160 ชุมชน

นอกจากนี้ยังตั้งเป้าผลิตบุคลากรผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินฯ 1,000 คน และหลักสูตรการดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร 100 คน อย่างไรก็ตามโครงการโดรนเกษตรวิถีใหม่ถือเป็นการสร้างสังคมดิจิทัลบนฐานความรู้ ทั่วถึง รู้ประยุกต์ใช้เป็น สนองตอบเป้าหมายสำคัญในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลเพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ ภายใต้เครื่องยนต์แรกของนโยบาย The Growth Engine of Thailand
                

สำหรับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรครบวงจรบ้านดงนาคำ เป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจาก ดีป้า ผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท โดยชุมชนได้นำเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรมาประยุกต์ใช้บริหารจัดการกระบวนการผลิตข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย ลดต้นทุน ประหยัดเวลา สามารถฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ได้อย่างแม่นยำ และเกิดการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ พยากรณ์ และต่อยอดในมิติต่าง ๆ นอกจากนี้ สมาชิกของวิสาหกิจชุมชนยังได้รับถ่ายทอดทักษะความรู้ และสอบใบอนุญาตบินโดรนอย่างถูกต้อง
               

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง กล่าวว่า การเยี่ยมชมศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลโพธิ์ตาก และ เยี่ยมชมผลสำเร็จการยกระดับชุมชนด้วยโดรนเพื่อการเกษตร เป็นการสร้างสังคมดิจิทัลบนฐานความรู้ ทั่วถึง รู้ประยุกต์ใช้เป็น สนองตอบเป้าหมายสำคัญในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลเพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) เครื่องยนต์เครื่องที่หนึ่งของนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของกระทรวง หรือ The Growth Engine of Thailand ซึ่งกระทรวงดีอี มุ่งส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างรายได้และก้าวทันความเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล หนึ่งในกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงมาจากการขยายผลการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชมในชนบทสามารถเข้าถึงและเลือกประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและสามารถนำทักษะทางด้านดิจิทัลสามารถสร้างรายได้และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีมากยิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน”

นอกจากนี้ ดีป้า และพันธมิตรจะเปิดอบรมหลักสูตรผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากระยะไกล และหลักสูตรการดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร ซึ่งเนื้อหาของทั้งสองหลักสูตรได้รับการออกแบบโดย ดีป้า และผ่านการรับรองจากสถาบันการบินพลเรือน โดยตั้งเป้า ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินฯ 1,000 คน และหลักสูตรการดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร 100 คน

“กระทรวงดีอี โดย ดีป้า ประเมินว่า ภายใน 1 ปีของการดำเนินโครงการจะเกิดศูนย์บริการฯ ทั่วประเทศ จำนวน 50 ศูนย์ ผลักดันให้ชุมชนเกิดการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรจำนวน 500 ชุมชน โดยในพื้นที่ภาคอีสานตั้งเป้าเกิดศูนย์บริการฯ จำนวน 16 ศูนย์ ชุมชนมีการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรจำนวน 160 ชุมชน ซึ่งโครงการ1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ถือเป็นการสร้างสังคมดิจิทัลบนฐานความรู้ ทั่วถึง รู้ประยุกต์ใช้เป็น สนองตอบเป้าหมายสำคัญในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลเพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) เครื่องยนต์เครื่องที่หนึ่งของนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของกระทรวง หรือ The Growth Engine of Thailand” รมว.ดีอี กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ดีป้า มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากำลังคนและบุคลากรดิจิทัล การพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล การส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล และการส่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัลให้กับประเทศ โดยหนึ่งในการดำเนินงานสำคัญคือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชมในชนบทสามารถเข้าถึงและเลือกประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับบริบทของตนเองในรูปแบบรัฐร่วมลงทุน ชุมชนร่วมสมทบ (Matching Fund) เพื่อนำไปสู่การต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาขีดความสามารถกระบวนการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เติบโตได้อย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการโดรนเกษตรวิถีใหม่ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรครบวงจรบ้านดงนาคำ คือโครงการที่ได้รับการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจาก ดีป้า ผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท โดยชุมชนได้นำเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรมาประยุกต์ใช้บริหารจัดการกระบวนการผลิตข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย ลดต้นทุน ประหยัดเวลา สามารถฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ได้อย่างแม่นยำ และเกิดการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ พยากรณ์ และต่อยอดในมิติต่าง ๆ นอกจากนี้ สมาชิกของวิสาหกิจชุมชนยังได้รับถ่ายทอดทักษะความรู้ และสอบใบอนุญาตบินโดรนอย่างถูกต้อง

“หลังจากนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ วิสาหกิจชุมชนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก และมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% หรือ 216,000 บาท/ปี สามารถลดต้นทุนการผลิต อาทิ ค่าแรง ค่าปุ๋ย และสารชีวภัณฑ์ 20% หรือ115,200 บาท/ปี ขณะที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกพืชปลอดภัยบ้านเทวี และกลุ่มเกษตรปลอดภัยบ้านไร่ชมภู มีการนำเทคโนโลยี IoT: Smart Farm พร้อมโรงเรือนมาใช้ปลูกพืชปลอดสาร โดยเทคโนโลยีดังกล่าวช่วยควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยโดยอัตโนมัติ ทำให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกพืชปลอดภัยบ้านเทวีมีรายได้จากการจำหน่ายผักปลอดสารเพิ่มขึ้น 30% หรือ 86,400 บาท/ปี ต้นทุนลดลง 20% หรือ 31,800 บาท/ปี ส่วนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรปลอดภัยบ้านไร่ชมภู มีรายได้จากการจำหน่ายผักปลอดสารเพิ่มขึ้น 30% หรือ 43,200 บาท/ปี ต้นทุนลดลง 30% หรือ 6,000 บาท/ปีโดยการดำเนินงานดังกล่าวนับเป็นหนึ่งในแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพแก่ภาคเกษตรกรรมไทย และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการค้าขายของชุมชนอีกทางหนึ่ง” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว.