ข่าวการเมือง

บุรีรัมย์ ปธ.กมธ.การศึกษาสภาฯ ระดม 6 อำเภอ รวมพลังแก้ปัญหายาเสพติดมีแนวโน้มระบาดรุนแรง

ประธานกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ระดม 4 หน่วยงาน ทั้งอำเภอ ตำรวจ ผู้บริหารสถานศึกษา นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 อำเภอในจ.บุรีรัมย์ ระดมสมอง รวมพลังหาแนวทางแก้ปัญหายาเสพติดที่มีแนวโน้มระบาดรุนแรงแบบบูรณาการนำร่องแห่งแรก

วันที่ 5 ก.พ. 2567 ที่ห้องประชุม ชั้น 1 สำนักงานเทศบาลตำบลลำปลายมาศ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ นายโสภณ ซารัมย์ ประธานกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ส.ส.บุรีรัมย์ เป็นประธานเปิดการประชุม “พลังรักศรัทธาแก้ปัญหายาเสพติด แบบบูรณาการ” โดยระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมเพื่อสรุปสภาพปัญหายาเสพติดในแต่ละอำเภอ ร่วมหารือแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยใช้รูปแบบบูราณาการ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมการปกครอง สาธารณสุข ตำรวจ และสถานศึกษา ในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอลำปลายมาศ, หนองหงส์, คูเมือง, บ้านใหม่ไชยพจน์, พุทไธสง และอำเภอนาโพธิ์

โดยมีนายอำเภอ ผู้กำกับการสถานีตำรวจ สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผู้บริหารสถานศึกษา นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำนัน ใน 6 อำเภอ ประมาณ 100 คน เข้าร่วมประชุม เพื่อสรุปสภาพปัญหายาเสพติดในพื้นที่ พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติดในแต่ละอำเภอ แบบบูรณาการ อีกทั้งเป็นการระดมสมองและหาแนวทางร่วมกันจากทุกภาคส่วน เพื่อการสนับสนุนงบประมาณในการแก้ปัญหายาเสพติด

จากนั้นรวมกลุ่มระดมความคิดของแต่ละหน่วยงาน ทั้งในส่วนของนายอำเภอ ผู้กำกับการสถานีตำรวจ สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผู้บริหารสถานศึกษา นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำนัน เกี่ยวกับสภาพปัญหายาเสพติดที่พบในแต่ละพื้นที่ สรุปสภาพปัญหายาเสพติด เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา และตั้งเป้าความคาดหวังในการดำเนินงาน ซึ่งโครงการนี้ เป็นแห่งแรกที่ดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบบูรณาการ โดยมูลนิธิอาณัตพล ซารัมย์ (ลูกเติ้ง) สนับสนุนงบประมาณ สำหรับการดำเนินโครงการแก้ปัญหายาเสพติด โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชนและสังคม ให้ร่วมดำเนินการในลักษณะบูรณาการควบคู่กับมาตรการทางกฎหมาย

นายโสภณ ซารัมย์ ประธานกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า วันนี้ผู้นำทั้ง 6 อำเภอ มาทำเวิร์กช้อป แก้ปัญหายาเสพติดแบบบูรณาการ ร่วมกันระดมความคิดในการแก้ปัญหายาเสพติดที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของชาติอยู่ในขณะนี้ ซึ่งข้อสรุปเราได้ปัญหาแล้ว ทั้งเรื่องข้อกฎหมายที่จะต้องแก้ ซึ่งในฐานะ ส.ส.ก็ต้องนำเข้าไปสู่นิติบัญญัติ ส่วนที่สำคัญก็คือ เราได้ดึงทุกหน่วยงาน ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ สาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และที่สำคัญเรามีภาคเอกชน จะระดมทุนจากมูลนิธิ กองทุน แม้แต่ประชาชน จะมาตั้งกองทุนในการที่จะเอาบุคคลซึ่งเราแยกบุคคลที่ติดยาเสพติดออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้เสพแบบครั้งคราว กลุ่มผู้เสพแบบประจำ และกลุ่มผู้เสพแบบจิตเวช วันนี้ เราให้ความสำคัญของกลุ่มที่จะป้องกันไม่ให้มีการเสพประจำ คือไม่ให้ติดยา เราจะเอาคนกลุ่มนั้น ในข้อสรุปของเราว่า ถ้าเราบำบัดแบบไม่แยกว่าใครติดมากติดน้อย พอไปรวมกันแล้วเหมือนคนเข้าเรือนจำ พอติดพ่อค้ายาเข้าไปออกมาติดมากกว่าเก่าอีก ฉะนั้นเราได้ข้อสรุปมาว่าเราจะให้ความสำคัญในการป้องกันแล้วก็ปราบปราม ซึ่งเราแบ่งหน้าที่กันชัดเจน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลงบประมาณร่วมกับภาคเอกชน ตำรวจดูแลเรื่องปราบปราม หมอดูแลผู้ที่ต้องการบำบัดจริงๆ ที่สำคัญก็คือ เราจะหันไปดูเรื่องโรงพยาบาลว่าตอนนี้งบไม่พอแล้วเอาผู้ป่วยที่เป็นจิตเวชไปรักษากับผู้ป่วยปกติทั่วไปซึ่งเป็นปัญหามาก

“ในพื้นที่ 6 อำเภอของเรา ได้รวมพลังกัน และในระยะอันใกล้นี้ เราก็จะจัดอำเภอไหน ตำบลไหนพร้อมก็ คิกอ๊อฟ ซึ่งเรามีการประกวดหมู่บ้านชุมชนยั่งยืน บ้านเมืองน่าอยู่ เราได้ตั้งรางวัลไว้หมู่บ้านละแสน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนมีส่วนร่วม”