ประชาสัมพันธ์

ยโสธร วางศิลาฤกษ์สถานีรถไฟเลิงนกทา

จังหวัดยโสธรจัดพิธีวางศิลาฤกษ์สถานีรถไฟเลิงนกทา จังหวัดยโสธรตามโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ สายบ้านไผ่ – มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม (ตอนผ่านจังหวัดยโสธร)

วันที่ 21 กันยายน 2566 เวลา 09.09 น. นายวิรุจ วิชัยบุญ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ สถานีรถไฟเลิงนกทา ที่บ้านดอนม่วง หมู่ที่ 3 ตำบลกุดแห่ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ตามโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่สายบ้านไผ่ – มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด มุกดาหาร – นครพนม (ตอนผ่านจังหวัดยโสธร) โดยมี นางชลาทิพย์ วิชัยบุญ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดยโสธร นายไกร เอี่ยมจุฬา รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร นางประภาศรี สุฉันทบุตร สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดยโสธร นายธนกร ไชยกุล อดีตกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจสภาผู้แทนราษฎร นายอนันต์ เหลาล่ม ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย นายสุพิช สามารถ นายอำเภอเลิงนกทา หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น นักเรียน นักศึกษา และประชาชนอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ร่วมงาน

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ถือเป็นเส้นทางสำคัญที่ช่วยพัฒนาศักยภาพระบบการขนส่งทางรางของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้สามารถรองรับการขยายตัวของการค้าในเขตชายแดนและผ่านแดน ตลอดจนเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่กำลังมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ลงนามสัญญาจ้างช่วงที่ 2 ช่วง อ.หนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด ไปจนถึงสะพานมิตรภาพ 3 จังหวัดนครพนม ระยะทางประมาณ 175 กิโลเมตร โดยมีระยะทางตอนผ่านจังหวัดยโสธร ในพื้นที่ตำบลห้องแซง ตำบลกุดเชียงหมี ตำบลสามัคคี และ ตำบลกุดแห่ อำเภอเลิงนกทา รวมระยะ 25.50 กิโลเมตร และมีป้ายหยุดที่บ้านห้องแซง 1 จุด และ มีสถานีขนาดกลางที่ตำบลกุดแห่ 1 จุด มีบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างในการก่อสร้าง ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี

อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้างทางรถไฟรงคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม นั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เริ่มจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมเส้นทางสายบัวใหญ่ ขอนแก่น -มุกดาหาร -นครพนม มาตั้งแต่ปี 2554 ต่อมาในปี 2557 การรถไฟแห่งประเทศไทยจ้างที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบจัดทำรายงาน EIA โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร – นครพนม และ ครม. ได้อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ในปี 2562 และในปี 2563 การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้จัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อสำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืนฯ และในปี 2564 ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกา เวนคืนที่ดินก่อสร้างโครงการรถไฟดังกล่าว โดยมีแนวเส้นทางรวม 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และ นครพนม รวมระยะทางทั้งสิ้น 355 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 6.6 หมื่นล้าน ออกแบบก่อสร้างเป็นคันดินทางยกระดับสูงเฉลี่ย 4 เมตร ระยะทาง 346 กิโลเมตร และเป็นทางรถไฟยกระดับ 9 กิโลเมตร เขตทางกว้าง 80 เมตร ผ่านพื้นที่ 6 จังหวัด 19 อำเภอ 70 ตำบล มีสถานีรถไฟ จำนวน 30 สถานี แบ่งเป็น 18 สถานี กับ 12 ที่หยุดรถไฟ และ 1 ชุมทางรถไฟ ซึ่งโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ สายบ้านไผ่ – มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้บริการในปี 2571