ประชาสัมพันธ์

ขอนแก่น สมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนไทย นำชาวบ้านจากไทย ลาว กัมพูชา ศึกษาดูงานส่งเสริมและพัฒนาต่อยอดอาชีพ การสร้างเครือข่าย

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 20 ธ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอมรชัย ศิริไส นายกสมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนไทยและ พล.อ.ธำรงด์ศักดิ์ ดีมงคล ประธานที่ปรึกษาสมาคมฯ พร้อมด้วยสมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนไทย และเจ้าหน้าที่โครงการฯ นำประชาชนตามแนวชายแดนประเทศไทย สปป.ลาว และ กัมพูชาใน “โครงการฝึกอบรมอาชีพสำหรับชุมชนในลุ่มแม่น้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิด” ศึกษาดูงานในการพัฒนาสงเสริมอาชีพในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นโดยมี รศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล ผู้จัดการฝึกอบรมอาชีพของโดรงการ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

นายอมรชัย ศิริไส นายกสมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ได้ดำเนินโครงการฝึกอบรมอาชีพสำหรับชุมชนในลุ่มน้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิด ตามแนวชายแดนใน 3 ประเทศ คือ ไทย ลาว และกัมพูชา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีชาวบ้านไปหาของป่าตามแนวภูเขาชายแดนในการเก็บของป่าเป็นอาหาร และได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดจนส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ แล้วเป็นปัญหาต่อการดำรงชีวิต ทำให้ครอบครัวประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จึงทำให้สมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนไทย ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร ได้เขียนโครงการเสนอต่อหน่วยงานของประเทศญี่ปุ่น คือ Japan Asean Integration Fund หรือJAIF โดยความเห็นชอบของ ASEAN ซึ่งประเทศไทยได้ไปให้คำรับรองต่อองค์การสหประชาชาติ (UN)ว่าจะทำการเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้หมดไปและกองทัพไทยได้สนับสนุนให้มีการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ชายแดนดังกล่าว

“โครงการฝึกอบรมอาชีพสำหรับชุมชนในลุ่มน้ำโขงฯ เพื่อลดปัญหาความยากจน ลดอุบัติเหตุจากทุ่นระเบิด ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ และเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ให้ลดน้อยลงไป ส่งผลให้มีรูปแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน มีอาชีพก่อให้เกิดรายได้ เกิดความรู้และตัวอย่างการปฏิบัติที่ดี ที่จะนำไปขยายผลแก่ประเทศอื่นๆใน ASEAN ซึ่งการดำเนินโครงการนี้ทางสมาคมได้เลือก บ้านแปดอุ้ม ตำบลโคมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่เป้าหมาย ในการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ ด้วยชาวบ้านแห่งนี้ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดมากกว่า 30 ราย ส่วนพื้นที่เก็บกู้ทุ่นระเบิด ได้ดำเนินการใน ตำบลบ้านด่าน อำเภอกันทรลักษณ์ และตำบลดงรัก อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีษะเกษ ด้วยความเห็นชอบจากศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ดทช.ศบท.ทท.”

ด้าน รศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล ผู้จัดการฝึกอบรมอาชีพของโครงการ กล่าวว่า ได้ทำการศึกษาข้อมูลชุมชน,ครัวเรือน,ภูมิศาสตร์และภูมิประเทศ ตลอดจนประสานงานในพื้นที่ หาข้อมูลอาชีพข้อมูลการผลิต ข้อมูลตลาด แจ้งนำมาวิเคราะห์ จนได้แนวทางและกิจกรรมการพัฒนาชุมชนและอาชีพ ซึ่งทางโครงการได้ดำเนินกิจกรรมแปลงเรียนรู้ เรียกว่า PATOM GARDEN เป็นลักษณะฟาร์มผสมผสาน หรือ Mini farm เน้นพื้นที่ใช้น้ำน้อย ใช้พื้นที่น้อย เหมาะสมต่อผู้พิการ ผู้สูงวัย และเด็กเยาวชน ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น การเพาะเห็ดนางฟ้าในท่อซีเมนต์ การปลูกผักแบบยกสูง การเลี้ยงแหนแดงในกระบะและกะละมังการเลี้ยงหอยเชอรี่สีทองในกระชัง การปลูกผักในเข่งและถุง การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า และมีแปลงสาธิตปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ด้วยท่อนพันธุ์สะอาดจากกรมวิชาการเกษตร