ประชาสัมพันธ์

ศรีสะเกษ สหกรณ์การเกษตรศรีรัตนะลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการส่งเสริมการผลิตการตลาดพืชหลังนาผ่านระบบสหกรณ์ ปี 2567 กับบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และบริษัท ที วาย เอ็น ทรานสปอร์ต จำกัด ภายใต้การบูรณาการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สหกรณ์การเกษตรศรีรัตนะ จำกัด อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ นายภาณุพงศ์ แสงคำ สหกรณ์ จ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “โครงการส่งเสริมการผลิต การตลาดพืชหลังนาผ่านระบบสหกรณ์ ปีการผลิต 2566/67” ระหว่างสหกรณ์การเกษตรศรีรัตนะ จำกัด กับบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และบริษัท ที วาย เอ็น ทรานสปอร์ต จำกัด ภายใต้การบูรณาการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิต การตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน สนับสนุนให้นำพื้นที่หลังฤดูทำนาที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชฤดูแล้ง “วิถีศรีรัตนะ ปลูกพืชหลังนา ขยายผลสร้างรายได้ เสริมสร้างเศรษฐกิจ จ.ศรีสะเกษ” โดยขยายผลการรวบรวมผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมี นางวนิดา พงษ์พีระ อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ เป็นผู้กล่าวรายงาน และมี นายวิชัย ศรีโพธิ์งาม เกษตร จ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย น.ส.วันลีย์ เจริญวิทย์ธนเดช เกษตรและสหกรณ์ จ.ศรีสะเกษ นายศุภกิตติ์ ปกป้อง หัวหน้าสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ จ.ศรีสะเกษ นายสรรเสริญ เจริญศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินศรีสะเกษ นายนคร บุตรดีวงศ์ พาณิชย์ จ.ศรีสะเกษ นางจีรภา ออสติน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ นายสมบัติ กาละพันธ์ ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรศรีรัตนะ จำกัด นายสมหวัง พุ่มไม้ ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรพยุห์ จำกัด นายสมัย บุญสาร ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรเบญจลักษ์ จำกัด นำคณะผู้แทนเกษตรกร มาร่วมพิธีลงนามในครั้งนี้

นางวนิดา พงษ์พีระ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ กล่าวว่า ด้วยกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดพืชหลังนาปีการผลิต 2566/2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชชนิดเดียวเป็นการปลูกพืชหลากหลายชนิด และเพื่อช่วยเหลือสมาชิกให้มีรายได้ มีอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืน โดยการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต การบูรณาการร่วมกับเอกชนและหน่วยงานต่างๆ ในการวางแผนการผลิตและการตลาดพืชหลังนา การถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรตั้งแต่การเพาะปลูก การดูแล บำรุงรักษา การวิเคราะห์โรคแมลงจนถึงการเก็บเกี่ยว ตลอดจนการรับซื้อผลผลิต เพื่อลดปัญหาผลผลิตล้นตลาด และราคาผลผลิตตกต่ำ รวมถึงสร้างรายได้เพิ่มให้แก่สมาชิกสหกรณ์ โดยดำเนินการผ่านระบบสหกรณ์จึงทำให้การขับเคลื่อนโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสหกรณ์ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อจัดหาปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เป็นต้น รวมทั้งเพิ่มผลผลิตให้มีคุณภาพ ส่งผลให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป

นายภาณุพงศ์ แสงคำ สหกรณ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า การลงนาม MOU ในครั้งนี้ สหกรณ์การเกษตรศรีรัตนะ จำกัด (แม่ข่าย) ได้ลงนาม MOU กับ สหกรณ์เครือข่าย จำนวน 3 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรเบญจลักษ์ จำกัด สหกรณ์การเกษตรพยุห์ จำกัด และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบ้านปุน จำกัด กลุ่มแปลงใหญ่ 4 แปลง ได้แก่ แปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หมู่ 7 หมู่ 8 ต.ศรีแก้ว อ.ศรีรัตนะ แปลงใหญ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บ้านหนองจิก ต.พิงพวย อ.ศรีรัตนะ แปลงใหญ่ข้าวโพด หมู่ 4 ต.หนองงูเหลือม อ.เบญจลักษ์ เป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวโพดเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ลดการบุกรุกป่าและต้นน้ำลำธาร ลดการเผาตอซังมีการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม การนำเปลือกข้าวโพดเป็นอาหารสัตว์ ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ โดยการสนับสนุนความรู้ทางด้านวิชาการ เทคโนโลยี เงินทุน ปัจจัยการผลิต ส่งเสริมด้านการผลิต การตลาด การรวบรวมผลผลิตส่งโรงงาน ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้

นายภาณุพงศ์ แสงคำ สหกรณ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงนามบันทึกข้อตกลงนี้ 1. สหกรณ์การเกษตรศรีรัตนะ จำกัด และสหกรณ์เครือข่าย มีปริมาณธุรกิจรวบรวมเพิ่มขึ้น ปริมาณผลผลิตไม่น้อยกว่า 8,500 ตัน สมาชิกจำนวน 1,105 ราย พื้นที่ 6,750 ไร่ มีรายได้เพิ่มเฉลี่ย 80,000 บาท/ราย/ปี และมีแหล่งจำหน่ายที่แน่นอน 2. จากความร่วมมือกับภาคเอกชน ทำให้เกษตรกรสมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น 250 บาท/ตัน ส่งผลให้เกษตรกรสมาชิกมีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาเพิ่มมากขึ้น 3. สร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายสหกรณ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และขบวนการสหกรณ์สามารถบริหารผลผลิตให้เกิดความสมดุล 4. การบูรณาการร่วมกันระหว่างเกษตรกร สหกรณ์ หน่วยงานราชการ และหน่วยงานเอกชน เกิดการทำงานร่วมกัน เดินทางไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้และความมั่นคงในอาชีพเกษตรมากยิ่งขึ้น รวมทั้งภาคเอกชนมีผลผลิตที่ได้คุณภาพ มีความมั่นคงในการจัดหาวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์