ข่าวสังคม

นครพนม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยนครพนม ปีการศึกษา 2565

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยนครพนม ประจำปีการศึกษา 2565 ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อาคารศรีโคตรบูรณ์ วิทยาลัยการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ มหาวิทยาลัยนครพนม


วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.01 น. ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม พร้อมด้วยผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษามหาวิทยาลัยนครพนม เฝ้ารับเสด็จฯ ณ อาคารศรีโคตรบูรณ์ วิทยาลัยการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ มหาวิทยาลัยนครพนม

ในวันนี้ มีผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคมและมหาวิทยาลัย เข้ารับพระราชทานเข็มเชิดชูเกียรติพระธาตุพนม ประจำปีการศึกษา 2565 จำนวน 4 ราย ได้แก่ พระครูศรีปริยัติการ (อรุณ ฐิตเมโธ ป.ธ.6) รองเจ้าคณะอำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม รางวัลเข็มเชิดชูเกียรติพระธาตุพนม กลุ่มสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาสังคมวิทยา, พระครูศรีพนมวรคุณ (กมลชัย ศรีกำลัง) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม รางวัลเข็มเชิดชูเกียรติพระธาตุพนม กลุ่มสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาปรัชญา, นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม รางวัลเข็มเชิดชูเกียรติพระธาตุพนม กลุ่มสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์ และ นายปริญญา ธรเสนา อดีตศึกษาธิการจังหวัดนครพนม รางวัลเข็มเชิดชูเกียรติพระธาตุพนม กลุ่มสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาการศึกษา

พร้อมทั้งพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนครพนม มีบัณฑิตเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 จำนวน 1,262 คน จาก 7 คณะ 4 วิทยาลัย ได้แก่ คณะครุศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการและเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ วิทยาลัยการบิน การศึกษา และวิจัยนานาชาติ คณะเกษตรและเทคโนโลยี คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม วิทยาลัยธาตุพนม วิทยาลัยพยาบาลบรมราชนนีนครพนม และคณะวิทยาศาสตร์

โดยในโอกาสนี้ ได้พระราชทานพระราโชวาท แก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนครพนม ความสำคัญตอนหนึ่งว่า “บัณฑิตเมื่อสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแล้ว นับว่าเป็นผู้มีความรู้ พร้อมที่จะนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพการงาน แต่นอกจากความสามาถทางวิชาการดังกล่าว ยังมีปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่จะเกื้อกูลให้บัณฑิตประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงานและดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นคงปลอดภัย คือ สติ ความระลึกรู้ตัว สตินั้น จะทำให้คนเรายั้งคิดพิจารณาได้ว่า สิ่งที่จะทำ คำที่จะพูด เป็นคุณหรือเป็นโทษ เป็นประโยชน์หรือมีผลเสียหายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เมื่อจะนำความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตและการทำงาน สติก็จะช่วยให้นำไปใช้แต่ในทางที่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นโทษเสื่อมเสียหาย จึงขอให้บัณฑิตทั้งหลายมั่นฝึกฝนพัฒนาตนเอง ให้เป็นผู้มีสติอยู่เสมอ พร้อมกันนั้น ก็ต้องร่วมมือร่วมใจกันด้วยความเสียสละและความรับผิดชอบ เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้แก่สังคมส่วนร่วม การปฏิบัติของแต่ละคน ก็จะบรรลุผลเป็นความผาสุกมั่นคง ทั้งแก่ตนเอง แก่สังคม และประเทศชาติ”

จากนั้น ได้เสด็จไปยังห้องนาคราช ชั้น 1 เพื่อทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์พื้นบ้านและชุมชน (OTOP) ของจังหวัดนครพนม และผลงานด้านการวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยนครพนมที่พัฒนาร่วมกับชุมชนในการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย กลุ่มทอผ้าบ้านดงน้อย หมู่ที่ 12 (ผ้าขาวม้า), กลุ่มทอผ้าพื้นเมือง หมู่ 9 (ผ้าพันคอ), กลุ่มทอผ้าบ้านโนนอุดม (ผ้าพันคอ), กลุ่มแม่บ้านทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ (ผ้าไหม), กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ (ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่), กลุ่มหัตถกรรมจากกกเหล่าพัฒนา(กระเป๋าสานเส้นฟั่นกก), กลุ่มสานกระติบข้าวบ้านหนองนกทา (กระติบข้าว), กลุ่มนาแกคราฟท์ (กระเป๋าถือสามสาวยกมุก), กลุ่มอาชีพสตรีไม้กวาดดอกแขมบ้านโคกสี (ไม้กวาดดอกหญ้าขนตาช้าง), สมาคมเพื่อคนพิการทางสติปัญญาจังหวัดนครพนม (กระเป๋าใส่เหรียญ พวงกุญแจ), ผู้ประกอบการข้าวโขบเมืองเว (ข้าวแต๋น), วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรบ้านห้วยไห (ข้าวฮางงอกไรซ์เบอร์รี่), กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านหนองนางด่อน (ผลิตผ้าคลุมไหล่ ด้วยเทคนิค ECO-PRINTING), ผู้ประกอบการกาละแมโบราณ (กาละแมโบราณ), ผลิภัณฑ์แปรรูบสับปะรด, ผลิตภัณฑ์จากลูกอ๊อด, ผลิตภัณฑ์ ลวดลายผ้าอัตลักษณ์ “ลายมุกนคร”

ภาพ/ข่าว : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม