ข่าวสังคม

บุรีรัมย์ พบใบเสมาสมัยทวารวดีกว่า 80 ใบเชื่อเป็นชุมชนโบราณชาวบ้านแห่กราบไหว้นำน้ำไปบูชาเชื่อศักดิ์สิทธิ์

จนท.กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดี พบใบเสมาสมัยทวารวดีกว่า 80 ใบกระจายในพื้นที่ 2 หมู่บ้าน พร้อมชิ้นส่วนภาชนะดินเผา เชื่อเป็นชุมชนโบราณอายุนับพันปี พร้อมให้ความรู้ชาวบ้าน นร.ร่วมดูแลอนุรักษ์ ขณะชาวบ้าน-ผู้สูงอายุจุดธูปเทียนกราบไหว้ นำน้ำจากหลุมที่ขุดค้นไปบูชาและทาตามร่างกายเชื่อเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

วันที่ 14 มี.ค. 2567 เจ้าหน้าที่กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ได้ทำการขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดีโนนสำโรง บ้านปะเคียบ ต.ปะเคียบ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ในโครงการศึกษาและกำหนดอายุแหล่งโบราณคดี ประเภทใบเสมาในวัฒนธรรมทวารวดี โดยการขุดค้นครั้งนี้พบใบเสมาสมัยทวารวดีสภาพสมบูรณ์ และยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิมไม่มีการเคลื่อนย้ายจำนวน 8 ใบ และพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่ใช้ในการดำรงชีวิต รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้พิธีกรรมความเชื่อของคนสมัยก่อนด้วย จากหลักฐานที่พบจึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชุมชนโบราณที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 16 และจากข้อมูลพบว่าในหมู่บ้าน ปะเคียบ ม.1 และบ้านหลักเมือง ม.16 ต.ปะเคียบ มีการค้นพบใบเสมาโบราณกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ประมาณ 80 – 90 ใบ ซึ่งมากที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ แต่บางส่วนได้ถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ตามวัดบ้าง ศาลากลางบ้าง แต่ยังคงมีพื้นที่โนนสำโรงแห่งนี้ ที่ใบเสมายังคงอยู่ในตำแหน่งเดิมไม่มีการเคลื่อนย้ายออก ทางสำนักศิลปากรที่ 10 จึงได้ทำโครงการขุดค้นครั้งนี้ เพื่อศึกษาและกำหนดอายุแหล่งโบราณคดีโนนสำโรงแห่งนี้ โดยเจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างดินและภาชนะดินเผาที่ขุดพบบางส่วน ไปตรวจหาค่าทางวิทยาศาสตร์ เพื่อกำหนดอายุสมัยแหล่งโบราณคดีให้มีความชัดเจนมากขึ้น ส่วนที่เหลือก็จะเก็บไว้ที่เดิมแล้วทำการปิดหลุม โดยให้ชุมชนร่วมกันดูแลอนุรักษ์

ขณะที่ชาวบ้าน ผู้สูงอายุ ที่ทราบข่าวก็ได้มาจุดธูปเทียนกราบไหว้ขอโชคลาภ และนำภาชนะใส่น้ำจากหลุมที่ขุดค้น เพื่อนำไปบูชา และทาตามร่างกายตามความเชื่อ เพราะเชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

นายกิตติพงษ์ สนเล็ก ผอ.กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมศิลปากรเคยมาสำรวจ พื้นที่โนนสำโรง บ้านปะเคียบ ม.1 และบ้านหลักเมือง ม.16 ต.ปะเคียบ อ.คูเมือง เมื่อปี 2532 และเคยมีรายงานที่บันทึกไว้ว่าพบคูเมืองโบราณ และใบเสมา มากถึง 80 – 90 ใบซึ่งถือว่าเยอะมากหากเทียบกับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ จะค้นพบเพียง 30 – 40 ใบเท่านั้น และที่อื่นมีการเคลื่อนย้ายไปไว้ตามสถานที่ต่างๆ แต่ที่โนนสำโรงแห่งนี้ยังอยู่ตำแหน่งเดิมและสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ จึงเชื่อว่าเป็นชุมชนโบราณสมัยทวารวดี ซึ่งการขุดค้นครั้งนี้ก็เพื่อกำหนดค่าอายุแหล่งโบราณคดีให้เกิดความชัดเจน และยังได้ศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมของคนสมัยโบราณด้วย

ด้านนายอำนาจ ควินรัมย์ ผู้ใหญ่บ้าน ม.1 บ้านปะเคียบ บอกว่า จุดที่ทำการขุดค้นเป็นพื้นที่ของนางสอน พอกแก้ว อายุ 67 ปี แต่ที่ผ่านมาจะมีสภาพรกร้างเพราะไม่มีคนกล้าเข้ามา เพราะจากคำบอกเล่าแม้กระทั่ง จนท.ที่เข้ามาสำรวจในพื้นที่แห่งนี้ ก็จะเจอกับเรื่องลี้ลับที่มองไม่เห็นต้องทำพิธีขอขมา ซึ่งชาวบ้านในหมู่บ้านก็เชื่อว่าพื้นที่ตรงนี้ศักดิ์สิทธิ์ ในส่วนของผู้นำชุมชนก็จะขอความร่วมมือให้ชาวบ้านร่วมกับดูแลอนุรักษ์

ขณะที่นางสะอาด แดงศรีบัว หนึ่งในชาวบ้านที่มากราบไหว้และนำภาชนะมาใส่น้ำจากหลุมที่มีการขุดค้นโบราณคดีดังกล่าว บอกว่า หลังจากทราบข่าวว่ามีชาวบ้านนำน้ำจากหลุมที่ขุดค้นไปทาแล้วอาการปวดขัดที่ขาดีขึ้น ก็เลยนำภาชนะมาใส่ไปบูชาและทาตามร่างกาย เพราะเชื่อว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ จากที่ผ่านมาไม่กล้าเข้ามาในพื้นที่นี้เลย เพราะมีเด็กเคยเข้ามาเอารังต่อในที่แห่งนี้แล้วไปปัสสาวะจนโดนเหมือนมีใครตบศรีษะอย่างแรงจนล้ม จึงเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในที่แห่งนี้