ข่าวสังคม

หนองคาย ชลน่านเปิดศูนย์หัวใจและตึกสงฆ์อาพาธยก 30 บาทรักษาทุกที่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่หนองคาย เปิดศูนย์หัวใจและตึกสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาลหนองคาย ยกจังหวัดชายแดนเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันควบคุมโรค ชูนโยบาย 30 บาท บัตรประชาชนใบเดียวใช้ได้ทุกที่ หนองคายเริ่ม 1 พ.ค.นี้

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 20 เม.ย.67 ที่โรงพยาบาลหนองคาย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นายสมภพ สมิตะสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย, พระเทพวชิรคุณ เจ้าคณะจังหวัดหนองคาย, นางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์, นายคำพัน อั่นลาวัน เอกอัครราชทูต สปป.ลาวประจำประเทศไทย นพ.สมศักดิ์ ประฎิภาณวัตร ผอ.รพ.หนองคาย พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันทำพิธีเปิดศูนย์หัวใจและตึกสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาลหนองคาย และเยี่ยมผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาล ให้กำลังใจอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดหนองคาย

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นับเป็นเมตตาจากหลวงพ่อปรีดา ฉันทกโร หลวงปู่ทุย วัดป่าดานวิเวก อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ ที่ให้งบประมาณ จำนวน 102 ล้านบาท ก่อตั้งศูนย์หัวใจโรงพยาบาลหนองคายแห่งนี้ ถือเป็นศูนย์หัวใจที่พร้อมด้านบุคลากรและเครื่องมือที่ทันสมัย มีห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและหลอดเลือด พร้อมระบบปรับอากาศปลอดเชื้อ ห้องพักผู้ป่วยอภิบาลโรคหัวใจปลอดเชื้อสามารถบริการประชาชนชาวหนองคาย รวมถึงชาวลาวที่มีปัญหาสุขภาพ สำหรับ ชั้นที่ 9 เป็นส่วนของตึกสงฆ์อาพาธ ได้รับเมตตาจากพระเทพวชิรคุณ เจ้าคณะจังหวัดหนองคาย บริจาคก่อสร้างปรับปรุงหอสงฆ์อาพาธ 10 ล้านบาท เพื่อให้การดูแลรักษาพระสงฆ์อาพาธอย่างเหมาะสมทั้งทางการรักษาและพระธรรมวินัย
สิ่งสำคัญในขณะนี้คือนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เป้าหมายคือการทำให้ประชาชนคนไทยโดยเฉพาะผู้ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้นเพียงแค่ใช้บัตรประชาชนใบเดียวก็สามารถรับบริการสาธารณสุขได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ คลินิกเอกชน ร้านยา คลินิกทันตกรรมใกล้บ้าน และเข้าร่วมในระบบ สปสช.ได้ทั้งหมด โดยไม่มีค่าใช้จ่ายและมีการจองคิวออนไลน์ การบริการส่งยาที่บ้านโดย Health Rider การให้บริการการแพทย์ทางไกลภายใต้การเชื่อมต่อข้อมูลผ่านระบบเทคโนโลยีทำให้ผู้ป่วยสามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้และยังเป็นการลดความแออัดในโรงพยาบาลได้ด้วย ซึ่งมีการนำร่องไปแล้วหลายจังหวัด ส่วนจังหวัดหนองคาย จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 พ.ค.2567 ในเขตสุขภาพที่ 8.