ข่าวสังคม

มุกดาหาร กังหันลมชี้แจงสร้างโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมที่ตำบลนาโสก

บริษัทพีแอนด์พี วินด์ เอ็นเนอจี้ ดีเวลลอปม้นท์ จำกัด ชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมจำนวน 2 ตำบล ประกอบด้วยตำบลนาโสก และตำบลกุดแข้ เนื่องจากมีราษฎรบางกลุ่มไม่เข้าใจในรายละเอียดการดำเนินการของโครงการฯ

14 05 67 ที่ห้องประชุม เทศบาลตำบลนาโสก อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ร.ต.ต.ธนสิทธิ์ นาโสก นายกเทศมนตรีตำบลนาโสก , นายณกร ชารีพันธ์ สส.จังหวัดมุกดาหาร เขต 2 พรรคก้าวไกล , ดร.กรพล ศรีวรขาน กรรมการบริษัทพีแอนด์พี วินด์ เอ็นเนอจี้ ดีเวลลอปม้นท์ จำกัด , นางสาวพัชรินทร์ ปรางค์ทอง กรรมการบริษัทพีแอนด์พี วินด์ เอ็นเนอจี้ ดีเวลลอปม้นท์ จำกัด , นายพรภิรมย์ อุระแสง ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้จังหวัดมุกดาหาร พร้อมด้วยผู้นำท้องถิ่น, ประธานสภา, สมาชิกสภาเทศบาล และตัวแทนชาวบ้านตำบลนาโสก และตำบลกุดแข้ ร่วมรับฟังการชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสอบถามข้อกังวลใจ เพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติม และเพื่อหาข้อยุติปัญหาของโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม เข้าร่วมในครั้งนี้ประมาณ 100 คน

จากกรณีชาวบ้านหมู่ที่ 1, 3 , 13 และหมู่ที่ 14 ตำบลนาโสก อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงบังอี่ แปลงที่หนึ่ง ต่อศูนย์ดำรงจังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ของบริษัทพีแอนด์พี วินด์ เอ็นเนอจี้ ดีเวลลอปม้นท์ จำกัด ซึ่งมีความกังวลใจถึงผลกระทบที่คาดว่าจะได้รับเรื่อง 1.มลพิษทางเสียง ระยะแรก ๆ อาจจะทำมาตรฐาน พอหลัง ๆ อาจจะเกิดความหละหลวงได้ 2. คลื่นความถี่ของกระแสไฟฟ้า ในการะบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า อาจส่งผลกระทบด้านสุขภาพในระยะยาว 3.ส่งผลกระทบระบบนิเวศ พื้นที่เคยอุดมสมบูรณ์จะได้รับผลกระทบจากการสร้างกังหันลม สัตว์ป่าจะไม่มีที่อยู่อาศัย พันธุ์ไม้จะสูญพันธุ์ 4.ส่งผลกระทบกับพื้นที่ทำกินในบริเวณใกล้เคียง จากเคยได้ผลผลิตเต็มที่ อาจจะได้ผลผลิตลดลง 5.ทับพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน 6.ชาวบ้านที่ยากจนหรือมีรายได้น้อยก็ได้หาหน่อไม้ กอย เห็ด และอีกมากมาย มาขายซื้อข้าวกินจุนเจือครอบครัว ซึ่งเป็นอาชีพสุจริต อาจมีข้อจำกัดในการหาอาหารที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล 7.พื้นที่ป่าภูยูงยังคงเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่ง 3 ตำบล ยังใช้ประโยชน์ร่วมกัน และยังเป็นที่ป่าชุมชน ได้มีการปลูกป่าอยู่ตลอด 8. พื้นที่ใกล้เคียงอาจไม่ได้รับความปลอดภัย ในเรื่องต่าง ๆ เช่น เกิดการละเมิด เสาหักลงมา เกิดฟ้าผ่า เป็นต้น 9.ชาวบ้านมีความกังวลใจในขั้นตอนการก่อสร้าง เพราะอาจจะมีสารเคมีบางอย่างไหลลงสู่แม่น้ำลำธาร อีกอย่างอ่างเก็บน้ำชลประทานห้วยกระหล่องอยู่ทิศใต้ ซึ่งฤดูฝนน้ำจะไหลลงมารวมกันที่อ่าง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาหมู่บ้านเพื่อใช้อุปโภค บริโภค

ตัวแทนชาวบ้านบางกลุ่มของตำบลนาโสก ได้ไปยื่นหนังสือคัดค้านการติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าต่อ นายณกร ชารีพันธ์ สส.จังหวัดมุกดาหาร เขต 2 พรรคก้าวไกล และได้ลงพื้นที่รับการชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมในวันนี้

ร.ต.ต.ธนสิทธิ์ นาโสก นายกเทศมนตรีตำบลนาโสก กล่าวว่า ในเรื่องดังกล่าวทางบริษัทได้มาขออนุญาต ก็ได้นำเข้าสภามีมติเห็นด้วย 8 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง งดออกเสียง 1 สถาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมาย และเป็นหน้าที่ของป่าไม้ และทางบริษัทที่จะเข้าไปดำเนินการ และผมเป็นคนนาโสก รักนาโสก ทำเพื่อศักดิ์ศรีของนาโสก ได้นำหนังสือเข้าสภา ให้สภาเห็นชอบ กังหันลมเข้าทำประโยชน์ที่ภูยูง แต่มีชาวบ้านได้ลงเฟส ลงโลน์ด่าผม ปัญหาแบบนี้ไม่ชอบเลยบอกตรง ๆ ผมชอบความยุติธรรมเหมือนกัน แต่ปัญหามีไว้แก้ไข จะแก้ไขอย่างไรก็มาคุยกันไป และคนไทยทุกคนต้องรู้กฎหมาย ผมรู้ว่าพี่น้องเดือดร้อน

นายสมพงษ์ นาโสก ตัวแทนชาวบ้าน บอกว่า เนื้อที่ 383 ไร่ ที่จะทำประโยชน์กังหันลม เนื้อที่อยู่ที่ตำบลนาโสกมากกว่าตำบลอื่น ๆ พื้นที่สร้างกังหันลม 1 ต้น ใช้พื้นที่ 3 ไร่ และต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่กังหันกี่ต้น พื้นที่ป่าภูยูงไม่เคยมีคนไปแผ้วถางทำไม่เหลือน้อย ยกเว้นเป็นแผ่นหินต้นไม้เกิดไม่ได้ แต่ป่าไม้ไปลงเป็นป่าเสื่อมโทรมไม่ได้ หลังภูยูงคนไม่เคยขึ้นไป มีแต่วัวควายขึ้นไป อยากอนุรักษ์ภูยูงไว้ให้พี่น้องประชาชนลูกหลานทำต่อไปเป็นป่าไม้รกทึบ เป็นไม่นานาพันธุ์ ภูยูงเป็นต้นน้ำลำธาร ที่อยู่อาศัย ที่ทำมาหากินของคนตำบลนาดสก ชาวบ้านใช้น้ำมาทำน้ำประปาจากภูยูง ชาวบ้าน 4 หมู่บ้านได้รับความเดือดร้อน

นายพรภิรมย์ อุระแสง ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้จังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า ขอชี้แจงระเบียบขั้นตอนการขออนุมัติใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่ป่าดงบังอี่ แปลงที่ 1 ต้องมีวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง และหัวข้อ 1 ในนั้นคือ เพื่อกิจการพลังงานทดแทน ซึ่งเกี่ยวกับโครงการนี้ หลังจากทางบริษัทได้ยื่นคำขอไปที่ สำนักงาน ทสจ.มุกดาหาร ภายใน 1 วันต้องให้แล้วเสร็จ จากนั้นนำเสนอท่าน ผวจ. ถ้าคำขอขาดประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ให้นำคำขอคืนผู้ขอถายใน 7 วัน หลังจากนั้นต้องนำเสนอท่าน ผวจ. หลังจาก ผวจ. รับทราบแล้วแต่งตั้งคณะกรรมการจังหวัดร่วมตรวจสอบ ประกอบด้วย ทสจ. และหน่วยงานในท้องที่ เสร็จแล้วส่งเรื่องไปที่ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 แล้วลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพป่า ส่วนการอนุญาตพลังงานทดแทน ในระเบีบยบอกว่า ให้พิจารณาให้อนุญาตเนื้อที่แต่ละคำขอ เอาความจำเป็นแก่การนั้น เนื้อที่ที่ขอต้องรวมพื้นที่ถนน ที่จะเข้าสู่โครงการด้วย และมีกำหนดระยะเวลาอนุญาตคราวละไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี

นายพรภิรมย์ อุระแสง กล่าวอีกว่า ในกรณีป่าดงบังอี่ แปลงที่ 1 ในตำบลนาโสก ตำบลกุดแข้ ที่กรมป่าไม้อนุญาตให้ บริษัทพีแอนด์พี วินด์ เอ็นเนอจี้ ดีเวลลอปม้นท์ จำกัด เข้าทำประโยชน์ในป่าสงวนแห่งชาติ ผลิดพลังงานไฟฟ้าพลังงานลม ป่าสงวนแห่งชาติตรงนี้ มีเนื้อที่ประมาณ 250,000 ไร่ เฉพาะพื้นที่ตำบลนาโสก และตำบลกุดแข้ มีพื้นที่ 114,127 ไร่ ป่าสงวนแห่งชาติ มีการจำแนกการใช้ประโยชน์ ตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2535 ออกเป็น 3 ประเภท หรือ 3 โซน 1. โซน C เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มีพื้นที่ 34,000กว่าไร่ 2. โซน E เป็นพื้นที่ป่าเพื่อเศรษฐกิจ มีพื้นที่ 29,400 กว่าไร่ 3. โซน A พื้นที่ป่าเหมาะสมทำเกษตรกรรม มีพื้นที่ 49,000 กว่าไร่ พื้นที่ในส่วน โซน A ให้ปฎิรูปที่ดินนำไปจัดสรรปฎิรูปแล้ว ส่วนโซน E นำไปออกโฉนดแล้ว 1,035 แปลง เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยมีเนื้อที่โดยรวมประมาณ 7,000 กว่าไร่ ในพื้นที่ตำบลนาโสก และตำบลกุดแข้ มีพื้นที่ประมาณ 29,000 กว่าไร่
ส่วนปัญหาป่าสงวนแห่งชาติป่าดงบังอี่ แปลงที่ 1 หน้าแล้งจะมีการเกิดไฟป่า ซึ่งสาเหตุการเกิดไฟป่ามาจากมนุษย์เป็นผู้กระทำ และพื้นที่อนุญาตต้องไม่เป็นพื้นที่ป่าชุมชน ไม่มีความสมบูรณ์ของป่าธรรมชาติเดิมเหลืออยู่ ไม่เป็นพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่า วนอุทยาน อุทยานแห่งชาติ และเป็นพื้นที่เพื่อการเศรษฐกิจ โซน E เท่านั้น …….

ดร.กรพล ศรีวรขาน กรรมการบริษัทพีแอนด์พี วินด์ เอ็นเนอจี้ ดีเวลลอปม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่า เบื้องต้นบริษัทได้ขอใช้พื้นที่ของกรมป่าไม้ ตามขั้นตอนและระเบียบชัดเจน มีการสำรวจป่าได้มีการเดินจัดทีมกับชุมชน และตัวแทนของกรมป่าไม้ และ ทสจ.มุกดาหาร มีการสำรวจหาค่าเฉลี่ยป่าไม้ สรุปออกมาเป้นพื้นที่เสื่อมโทรม ทางบริษัทมีการสำรวจจริง โดยทางผู้นำชุมชนได้ไปด้วย โดยตัวแทนบริษัทเองมีการสำรวจจริง แต่ทางบริษัทก็ยังเป็นห่วงหลายเรื่อง เช่น ความไม่เข้าใจในชุมชน ไม่สามารถเข้าถึงได้ ทางบริษัทก็อาจมีการสนับสนุนเรื่องการดับไฟป่า ได้คุยกับทางเทศบาลว่า ถ้าสมมุติมีการตัดถนน อนาคตที่ที่เคยมีไฟป่าจะมีการจัดการอย่างไร ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ส่วนในเรื่องด้านการศึกษา บริษัทก็มีนโยบายกองทุนสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นอาชีพ สนับสนุนเยาวชนด้านการศึกษา และสิ่งแวดล้อม ส่วนที่ 3 คือ กองทุนไฟฟ้าอยู่ในการควบคุมดูแลของ กฟภ. ทางบริษัทต้องจัดสรรงบประมาณเข้ากองทุนนี้ และให้ทางเทศบาลตั้งโครงการของบประมาณมาพัฒนาชุมชนต่อไป นี่คือแนวทางเบื้องต้นที่จะพัฒนาชุมชน ทางบริษัทขอยืนยันว่า ได้ทำตามระเบียบทุกอย่าง และไม่ได้นิ่งนอนใจ ถ้ามีเรื่องไม่สบายใจของคนในชุมชน

ดร.กรพล ศรีวรขาน เปิดเผยอีกว่า บริษัทพร้อมที่จะเข้าไปพูดคุยพร้อมที่จะพัฒนา เพราะบริษัทไม่สามารถเดินได้ด้วยลำพัง ต้องเดินไปกับชุมชน ถ้ามีความจำเป็นต้องนำไม้ออก บริษัทใช้วิธีการล้อมบอน และจะมีการเดินสำรวจอีกครั้ง สำหรับเรื่องผลกระทบ ทางบริษัททราบประเด็นนี้มาแล้ว ทางบริษัทพร้อมจะทำการพูดคุย เยียวยาตามความเหมาะสม และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย บริษัทคำนึงถึงหลักของกฎหมาย และความพึงพอใจของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ พร้อมที่จะเยียวยาพูดคุยดูแล บริษัทมีความจริงใจที่อยากจะดูแลคนในชุมชน รวมถึงสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาในภาพรวม ถึงผู้ที่สงสัยเดินสำรวจไปกับเรา บริษัทพร้อมที่จะชดเชยและเยียวยา ตามความเหมาะสม และบริษัทได้ทำการศึกษารวมถึงดำเนินการต่าง ๆ โดยอ้างอิงจากความรู้และความสามารถของความเชี่ยวชาญของผู้เชี่ยวชาญ และพร้อมสนับสนุนเทศบาล และชุมชนพร้อม ๆ กัน ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาตั้งเสาวัดลม ต้องศึกษาอีกประมาณเป็นปี ตั้งใจว่า บริษัทจะสามารถดำเนินการต่อได้หรือไม่ และทางบริษัทจะต้องศึกษาสิ่งแวดล้อมด้วยพร้อมๆ กัน
สำหรับประโยชน์จากโครงการนี้มีหลายมิติ ถ้าโครงการสำเร็จ ถนนในการสัญจรขนส่งพืชผลทางการเกษตร รวมถึงการรักษาอนุรักษ์ป่า และไฟป่าอีกด้วย

ด้าน นายณกร ชารีพันธ์ สส.จังหวัดมุกดาหาร เขต 2 พรรคก้าวไกล กล่าวว่า วันนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นของการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่า เนื่องจากระเบียบในการสร้างกังหันลม ไม่ต้องทำประชาชนก่อน และขอไปที่กรมป่าไม้ให้อนุญาตได้เลย ต้องเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ปรากฏว่าชาวบ้านไม่ได้เชื่อว่าพื้นที่ทำกังหันลมนั้นเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมจริง แต่กรมป่าไม้ก็ได้ออกใบอนุญาตไปแล้ว การจะลงมาที่ท้องถิ่น บริษัทต้องมีการทำแผน MOU ที่ชัดเจนว่า จะสนับสนุนอะไรในท้องถิ่นบ้าง พี่น้องประชาชนชาวนาโสก จะได้ผลประโยชน์อะไรจากกังหันลม 90 เมกะวัตต์ แม้ว่าทางบริษัทจะจ่ายเงินเข้าไปในกองทุนพลังงานก็จริง แต่ว่าระเบียบการเบิกใช้กองทุนพลังงานก็ยากเหลือเกิน ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการวัดต้นไม้ ไปดูว่าเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมจริงหรือเปล่า อยากให้ป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทบทวนให้มีส่วนร่วม
ทั้งนี้ตัวแทนชาวบ้านบางกลุ่มตำบลนาโสก และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่มารับฟังการชี้แจงและรับฟังความคิดเห็น และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสอบถามข้อกังวลใจ เพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติม และเพื่อหาข้อยุติปัญหาของโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ชาวบ้านที่มารับฟังได้รับความพึงพอใจในขั้นตอนต่าง ๆ พอสมควรก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน..