ข่าวสังคม

จังหวัดเลย พิธีมอบ แบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หอประชุมยอดภู วิทยาลัยอาชีวศึกษาเลย ต.กุดป่อง อ.เมืองเลย จ.เลย นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานในพิธีมอบ แบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ให้แก่ รองผู้ว่าราชการ จังหวัดเลย ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเลย หัวหน้าส่วนราชการระดับ จังหวัด 30 หน่วยงาน นายอำเภอ 14 อำเภอ และกลุ่มทอผ้าจังหวัดเลย 56 กลุ่ม/ราย เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริ วัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา เพื่อส่งมอบให้แก่กลุ่มทอผ้า ช่างทอ ช่างเทคนิค งานหัตถกรรมในจังหวัดเลย เป็นต้นแบบพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นถิ่น ให้มีความให้มีความทันสมัย สามารถก้าวสู่สากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน

นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยกล่าวว่า ตามที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริ วัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาพระราชทานผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย อธิบดีกรมการ พัฒนาชุมชน และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน เนื่องในโอกาสเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรจังหวัดพัทลุง เพื่อเป็นของขวัญแก่ช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค เยาวชนคนรุ่น ใหม่ และประชาชนคนไทยทุกคน ผู้มีจิตใจที่มุ่งมั่น ในการสืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาและงานหัตถศิลปพื้นถิ่น ให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดินไทยอย่างยั่งยืน ซึ่ง “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” เป็นลายผ้า ที่พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายพื้นถิ่นภาคใต้แล้วนำมาออกแบบ ผสมผสานกับ “ลายดอกรัก” ที่สื่อถึงความรักและกำลังใจที่พระองค์ ทรงสร้างสรรค์ขึ้น ประกอบด้วย 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้าบาติก ประเภทที่ 2 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้ามัดหมี่ ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้มีลวดลายประกอบด้วย ตัวอักษร S สื่อถึงพระกรุณาธิคุณ พระวิสัยทัศน์ และพระอัจฉริยภาพในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน์ราชกัญญา ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถศิลป์พื้นถิ่น ให้มีที่ยืนในโลกใบใหม่ได้อย่างภาคภูมิ ลายดอกรักสี่ทิศ สื่อถึงความ จงรักภักดีที่ช่างทอผ้า ทุกกลุ่มทุกเทคนิคจากทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ แสดงต่อ พระองค์และได้เทิดทูนพระองค์ไว้เหนือเกล้า เหนือกระหม่อมชั่วลูกสืบหลาน ลายดอกรักห้ากลีบ สื่อถึงจิต 5 ประการ ที่ถักทอผืนผ้าแห่ง ความสำเร็จ ได้แก่ ความเชี่ยวชาญ ความคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ความเคารพ และเข้าใจ และความมีคุณธรรม และลายกระจังใจรัก สื่อถึงความรักและห่วงใยจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา ที่มีต่อปวงชนชาวไทยอย่างอเนกอนันต์

ประเภทที่ 3 ผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ประเภทผ้ายก มีลวดลายประกอบด้วย ตัวอักษร S ตัวใหญ่ สื่อถึงพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาการทอผ้าและงานหัตถศิลป์ไทยในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชนินาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตัวอักษร S ตัวเล็ก สื่อถึงพระดำริที่ตั้งมั่นในการสืบสานรักษา และต่อยอดพระราชปณิธาน อันยิ่งใหญ่ในสมเด็จย่าของพระองค์ ทางด้านการฟื้นคืนภูมิปัญญาการทอผ้า
ของไทยให้มีความร่วมสมัยและเป็นสากล ลายกรอบย่อมุม สื่อถึงภูมิปัญญา การทอผ้าและหัตถศิลป์พื้นถิ่นที่มีเอกลักษณ์จากทุกภูมิภาค ของประเทศไทย ที่ควรค่าแก่การรักษาไว้ให้ดำ รงคงอยู่คู่แผ่นดิน ลายดอกรักสี่ทิศ สื่อถึงความรักและศรัทธา ในงานถักทอผืนผ้าแห่งภูมิปัญญาพื้นถิ่น ด้วยสมองและ สองมือของช่างทอผ้า ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ลายเชิงช่อดอกรัก สื่อถึง ความรักและกำลังใจที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแก่ช่างทอผ้า ผู้สืบสานภูมิปัญญาการทอผ้า และ หัตถศิลป์พื้นถิ่นของ ไทยในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และผ้าบาติก ลายพระราชทาน ลายที่ 4 ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา โปรดเกล้าฯ ให้พัฒนา “ผ้าบาติกลายพระนามาภิไธย สิริกิติ์” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ได้รับ การทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อครั้งโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อปี 2503 เพื่อให้มีความร่วม สมัยและเป็นสากลอีกทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยเรื่องราวและความหมายชวนประทับใจ เป็นการยกระดับผ้าไทยให้มีความร่วมสมัยสามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืนเปรียบดังแสงสว่างแห่งวิถี ความงดงามของอัตลักษณ์ไทย ส่งผ่านไปสู่พี่น้องประชาชน ทางให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก อันเป็นพลังที่จะสืบสานความเป็นไทยให้คงอยู่สืบไป