ข่าวอาชญากรรม

อุดรธานี ไฟไหม้พระธาตุรวงข้าวทั้งองค์ข้างตลาดชื่อดังเมืองอุดรฯ

เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 สนง.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ทต.นาข่า ได้รับแจ้งเหตุไฟไหม้พระธาตุรวงข้าว (พระธาตุชั่วคราว) ที่วัดนาคาเทวี บ.นาข่า ต.นาข่า อ.เมือง จ.อุดรธานี หลังรับแจ้ง พ.ต.อ.วิธ มุทธสินธุ์ นายกเทศมนตรีตำบลนาข่า ได้สั่งการให้รถดับเพลิง เทศบาลตำบลนาข่า จำนวน 3 คัน เร่งไปทำการดับไฟอย่างเร่งด่วน โดยมีอาสากู้ภัยมูลนิธิอุดรสว่างเมธาธรรมสถาน เข้าสนับสนุนไฟส่องสว่าง และกำลังสนับสนุน

เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุพบว่าไฟกำลังลุกไหม้พระธาตุรวงข้าวเจดีย์พระแม่โพสพ (พระธาตุชั่วคราว) อยู่ข้างพระอุโบสถ วัดนาคาเทวี บ.นาข่า โดยพระธาตุรวงข้าวนี้มีโครงเป็นเหล็ก มัดด้วยรวงข้าวแห้ง แล้วต่อไฟฟ้ามาประดับดูสวยงาม ขณะนั้นไฟได้ลุกไหม้อย่างหนัก เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเทศบาลตำบลนาข่า ร่วมกับกรรมการวัด และชาวบ้านโดยรอบมาช่วยกันนำน้ำมาดับไฟก่อนในเบื้องต้น แต่ด้วยตัวเจดีย์ประดับด้วยรวงข้าวแห้ง จึงไม่สามารถดับไฟได้ทัน ทำให้ไฟไหม้จนแหลือแต่โครงเหล็ก โดยใช้เวลาดับไฟไม่ให้ลุกลามไปจุดอื่นประมาณ 30 นาที เพลิงจึงสงบลง โชคดีที่ไม่ลุกลามไปจุดอื่นและไม่มีความสูญเสียในชีวิต

ก่อนนี้ทางเทศบาลตำบลนาข่าได้จัดงานมนัสการพระธาตุรวงข้าวเจดีย์ศรีพระแม่โพสพ ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 6 – 14 มกราคม 2567 แต่ยังคงตัวพระธาตุเอาไว้ ประดับไฟสวยงามในยามค่ำคืนต่อไปอีก เพื่อให้นักท่องเที่ยวหรือประชาชนทั่วไปเข้ามาชมความสวยงามของตัวพระธาตุ เนื่องจากจุดนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชื่อเสียงของ จ.อุดรธานี ที่ผู้คนรู้จักในนาม “ตลาดผ้านาข่า” โดยใจกลางของพระธาตุ ชาวบ้านร่วมใจกันนำพระพุทธรูป “หลวงพ่อนาค” ปรางค์นาคปรก นำมาประดิษฐานเอาไว้ ให้ชาวบ้านได้บูชา

หลังเกิดเหตุลูกศิษย์วัด ได้ช่วยกันนำออกมาจุดเกิดเหตุหลังเพลิงสงบ ซึ่ง “หลวงพ่อนาค” ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ต่างจากพระพุทธรูปองค์อื่นที่นำไปประดิษฐานไว้ข้างกัน ที่ถูกเปลวเพลิงไหม้จนเป็นสีดำสนิท นายยศกร สมใจ อายุ 16 ปี ลูกศิษย์วัด ผู้เห็นเหตุการณ์คนแรก เล่าว่า ตนเป็นเด็กในหมู่บ้าน มักจะมาช่วยงานที่วัดประจำ เจ้าอาวาสวัดบอกตนมานั่งเฝ้าในบริเวณวัด เนื่องจากที่ผ่านมามีคนร้ายมักจะเข้ามาขโมยเงินในตู้บริจาควัด ช่วงหัวค่ำตนก็นั่งเล่นอยู่ในศาลาติดกับตลาดผ้าน่าข่าตามปกติ ไม่นานก็เห็นไฟไหม้สายไฟที่เชื่อมไปยังตัวพระธาตุรวงข้าว ตรงช่วงฐานของพระธาตุ ตอนนั้นไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว ตนตกใจมาก จึงบอกรุ่นพี่ที่นั่งอยู่ด้วยกันให้มาช่วยกันดับไฟ บ้างก็ใช้ผ้ามาตบไฟ บ้างก็ลากสายยางมาฉีดน้ำ แต่ก็ทำไม่ได้ ไฟลุกลามจุดไหม้ไปพระพระธาตุ

นายสมพร บุญมี อายุ 59 ปี ชาวบ้านนาข่า ช่างรับเหมาผู้ก่อสร้างพระธาตุ เล่าว่า ตนเองและลูกน้องเป็นทีมงานสร้างพระธาตุรวงข้าว ก่อนหน้านี้ไม่ได้ก่อสร้างใหญ่โตเหมือนแบบนี้ เพิ่งจะเริ่มจัดอลังการได้ 3 ปี ปีแรกพวกตนให้โครงสร้างเป็นไม้ยูคาลิปตัส ปีที่สอง และปีนี้ให้เปลี่ยนไปใช้เป็นโครงเหล็ก แต่ก็มีการประดับไฟสวยงามในยามค่ำคืนทุกปี ตามแบบตนจัดสร้างพระธาตุใหญ่ 1 องค์ สูง 21 ม. กว้าง 5 คูณ 5 ม. พระธาตุเล็กอีก 4 องค์ ล้อมรอบ สูง 7.4 ม. กว้าง 2 คูณ 2 ม. ใช้เวลาสร้างนานกว่า 2 เดือน

“ก่อนเกิดเหตุตนอยู่ที่นาตนเอง เมื่อเพื่อนบ้านโทรบอกจึงรีบออกมาดูทันที รู้สึกเสียใจมาก เพราะเป็นพระธาตุที่ตนเองตั้งใจสร้างขึ้นกับลูกน้อง ทั้งยังมีชาวบ้านมาช่วยด้วยบ้างส่วน เป็นประเพณีที่พวกตนเคารพนับถือ ความเสียหายทั้งหมดแยกเป็นโครงเหล็ก 1.2 แสนบาท และมัดข้าวที่เอามาประดับ 4 หมื่นบาท รวมแล้วประมาณ 1.6 แสนบาท ปีหน้าจะต้องมีการวางแผนกันใหม่ เพราะคิดว่าสาเหตุไฟฟ้าลัดวงจร น่าจะมีปัญหาหลังจากที่เมื่อวานมีฝนตกลงมาอย่างหนักเมื่อวานนี้ คณะกรรมการต้องมาช่วยกันคิดและวางแผนอีกครั้งในปีต่อไป”

พระอาจารย์ณัฐพล ตะปะสิโล เจ้าอาวาสวัดนาคาเทวี กล่าวว่า ตอนเกิดเหตุกำลังจำวัดอยู่ในกุฏิ ลูกศิษย์วิ่งมาบอกว่าไฟไหม้พระธาตุรวงข้าว อาตมาจึงรีบออกมาดู จากการสอบถามคิดว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร เพราะมีการต่อสายไฟฟ้าไปยังพระธาตุ คงจะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ไม่ใช่อาถรรพ์อะไร หลังจากแล้วเสร็จงานมนัสการฯ พูดคุยกับกรรมการวัดว่าจะจัดแสดงไว้จนถึงปลายเดือนเมษายน แต่ก็มาเกิดเหตุไฟไหม้เสียก่อน งานนี้เป็นการอนุรักษ์ สืบสานจารีตประเพณีของชาวอีสาน ฮีตสิบสองคลองสิบสี่ ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ชาวอีสานเรียกว่าบุญกุ้มข้าวใหญ่ บุญประทายข้าวเปลือก บุญคุณลานสู่ขวัญข้าว ต่อไปก็ต้องระมัดระวังให้มากกว่านี้ ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก