ข่าวเศรษฐกิจ

พช.นครพนม ติดตามความสำเร็จโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” อำเภอโพนสวรรค์

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ที่แปลงศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ โคก หนอง นา ของนางนิ่มอนงค์ แก้วไพศาล หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านค้อ อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม นางวรนุช กรุงเกตุ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามผลสำเร็จการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” งบประมาณปี 2564 ของนางนิ่มอนงค์ แก้วไพศาล หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านค้อ อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ ซึ่งได้รับงบประมาณ ปี พ.ศ. 2564 ดำเนินการขุดปรับพื้นที่แล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 ปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้าน เกษตรอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์จากข้าวอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วย และมีแผนที่จะพัฒนาสู่การเป็น แหล่งท่องเที่ยวต่อไป กิจกรรมที่ดำเนินการพื้นที่โคก มีการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และปลูกป่า 5 ระดับตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ เช่น ปลูกต้นยางนา ต้นสัก ประดู่ พะยูง ปลูกผลไม้ต่าง ๆ เช่น กล้วย มะม่วง มะละกอ ฯลฯ และพืชผักสวนครัวต่าง ๆ เช่นข่า ตะไคร้ พริก มะเขือ ฯลฯ โดยพื้นที่คลองไส้ไก่ หนองน้ำ สามารถ เก็บกักน้ำไว้ใช้ได้ตลอดปีทั้งปี

มีการเลี้ยงปลาตะเพียน ปลาบึก ปลาช่อน ปลานิล กระโห้ ประมาณ 10,000 ตัว เข้าร่วมโครงการปรับปรุงพื้นที่ เข้าสู่ปีที่ 3 ผลผลิตจากโคก หนอง นา ที่ออกดอก ออกผลได้ แก่ ปลา กล้วย และพืชผักสวนครัว ที่เป็นแหล่งอาหารให้ครัวเรือน อย่างเพียงพอ ทั้งยังสามรถแบ่งปันเพื่อนบ้าน และจำหน่าย ช่วยลดรายจ่ายสร้างรายได้แก่ครัวเรือน ให้พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น

นางนิ่มอนงค์ แก้วไพศาล กล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต จากพื้นที่นาลุ่มน้ำท่วมเกือบทุกปีในวันนั้น จะสามารถสร้างความสุข สร้างรอยยิ้ม สร้างสุขภาพให้กลับมาแข็งแรงได้อีกครั้ง พร้อมได้กล่าวว่า โคก หนอง นา ของตนสามารถสร้างรายได้จากผลผลิต ขายกล้วย ประมาณ 5,000 บาท/เดือน ขายพืชผัก สวนครัว ประมาณ /1,000 บาท/เดือน ขายหญ้าอาหารสัตว์ประมาณ 500 บาท/เดือน ขายปลาประมาณ 1,000/เดือน นอกจากนั้นได้นำผลผลิตมาแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ กล้วย ข้าว เป็นต้น และพร้อมยินดีต้อนรับทุกท่านที่สนใจอยากจะมาศึกษาดูงาน พร้อมที่จะเป็นศูนย์เรียนรู้และเป็นจุดท่องเที่ยงเชิงเกษตรเพื่อเพิ่มอาชีพและรายได้สู่ชุมชน

สรุปได้ว่า โคก หนอง นา เป็นการน้อมนำศาสตร์พระราชา มาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอาชีพ สร้างรายได้สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ส่งผลดีต่อชุมชน บนพื้นฐานความพอเพียง และสามารถพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนได้