ข่าวการศึกษา

สุรินทร์ ม.ราชภัฏสุรินทร์ ลงนามบันทึกข้อตกลงผลักดันพัฒนาศักยภาพชุมชนสมุนไพร “ขมิ้นชัน” ยกระดับการผลิตเพิ่มมูลค่าการตลาด

วันที่ 7 ก.พ. 2567 ที่ห้องประชุมบันทายศรี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ได้จัดให้มีพิธีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพชุมชนนวัตกรรมและคลัสเตอร์พืชสมุนไพร บนรากฐานทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและพลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานราก ระหว่าง ม.ราชภัฏสุรินทร์ โดย ผศ.ฉลอง สุขทอง อธิการบดี กับ ส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตร กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กรมการพัฒนาชุมชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และวิสาหกิจชุมชนในจังหวัด รวม 40 หน่วยงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือพัฒนาโมเดลในการสร้างนวัตกรรมชุมชนที่มีทักษะการรับปรับใช้และต่อยอดนวัตกรรมสมุนไพรอย่างขมิ้นชันให้กับชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง สร้างการเรียนรู้และนวัตกรรมเพื่อสมุนไพรขมิ้นชันที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน และประยุกต์ใช้นวัตกรรมพืชสมุนไพรขมิ้นชันสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับศักยภาพของชุมชน

สรุปเป้าหมายหลักคือการสร้างนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการสร้างสรรค์นวัตกรรมพืชสมุนไพร “ขมิ้นชัน” ให้กับชุมชน หรืออีกนัยหนึ่งคือสามารถนำขมิ้นชันมาพัฒนา โดยผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ให้แตกต่างจากเดิมให้เป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งมีคุณสมบัติในการป้องกันฟื้นฟูและรักษาสุขภาพ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดจนขยายผลไปสู่ชุมชนและเกิดชุมชนนวัตกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและพลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน โดยระยะต้นมีชุมชนเป้าหมายการวิจัยอยู่จำนวน 10 ชุมชนในการสร้างความร่วมมือยกระดับด้านนวัตกรรมขมิ้นชัน

ผศ.ดร.อุบลวรรณ สุวรรณภูสิทธิ์ (เสื้อสีดำ) หัวหน้าชุดโครงการวิจัยฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้ขมิ้นชันมีความต้องการในตลาดค่อนข้างสูง สามารถขยายผลให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น โดยผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแปรรูปหลาหลายรูปแบบ และเชื่อมโยงไปสู่ตลาดและภาคีเครือข่ายเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้น ซึ่งตอนนี้ถือว่าขมิ้นชันมีการขาดตลาด จากที่ก่อนหน้าที่พื้นที่ปลูกจำนวนมากอยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษ แต่ตอนนี้ผลิตไม่ได้ถึงจำนวนที่ตลาดต้องการเป็นจำนวนมาก โดยราคารับซื้อตอนนี้อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 20-50 บาท แต่ในกรณีที่มีการแปรรูปเป็นแบบแห่ง หรือ ผง ราคาจะสูงขึ้น 3-4 เท่า นอกจากนี้ทางโครงการฯ จะพยายามยกระดับและพัฒนาแหล่งเพาะปลูกให้ได้มาตรฐาน GAP เพื่อให้ผลิตผลสมุนไพรของจังหวัดได้ราคาสูงกว่าและได้มาตรฐานเพื่อการจำหน่ายหรือส่งออกที่มั่นคง

ทั้งนี้ “ขมิ้นชัน” เป็นพืชสมุนไพรเป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาให้มีคุณภาพระดับสากล เนื่องจากเป็นสมุนไพรที่ได้รับการยอมรับและมีศักยภาพในการต่อยอดเชิงพาณิชย์ รวมถึงนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมให้โรงพยาบาลต่างๆใช้ยาที่มามาจากพืชสมุนไพรมากขึ้น ตลาดขมิ้นชัน จึงเป็นตลาดที่มีการเจริญเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากขมิ้นชันมีการนำไปใช้ในการดูแลสุขภาพ รักษาโรค และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เป็นทางเลือกจากธรรมชาติ