ข่าวการศึกษา

เทคโนโลยีการเกษตร ม.กาฬสินธุ์ ส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงไก่พื้นเมืองสร้างอาชีพ

คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์จัดกิจกรรมโครงการฝึกอบกรมนวัตกรรมการผลิตไก่พื้นเมือง เพื่อสร้างอาชีพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรรายย่อย ยกระดับรายได้เกษตรกรรองรับวิกฤตการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 พื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์

ที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตปศุสัตว์คุณภาพสงเปลือย ตำบลสงเปลือย อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์  ผศ.ดร.จิระนันท์ อินทรีย์ หัวหน้าโครงการ “นวัตกรรมการผลิตไก่พื้นเมืองเพื่อสร้างอาชีพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรรายย่อย” คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์  พร้อมคณะผู้ร่วมวิจัยลงพื้นที่สร้างความเข้าใจแก่กลุ่มเกษตรกรในการฝึกอบกรม“นวัตกรรมการผลิตไก่พื้นเมืองเพื่อสร้างอาชีพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรรายย่อย”  ภายใต้โครงการหลัก “การสร้างอาชีพทางเลือกบนทรัพยากรฐานรากเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและยกระดับรายได้เกษตรกรรองรับวิกฤตการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 พื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ (กาฬสินธุ์โมเดล) ซึ่งได้รับงบประมาณสนับนุนจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)   

ผศ.ดร.จิระนันท์ อินทรีย์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า การลงพื้นที่จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการแนวทางการเลี้ยงไก่พื้นเมืองเพื่อสร้างรายได้และการจัดการโรงเรือนเลี้ยงไก่พื้นเมือง  โดยการจัดฝึกอบรมในครั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จาก นายสุนทร แสงดารา ปศุสัตว์อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมให้ข้อเสนอแนะการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่พื้นเมือง และนายจิตกร กั้วมาลา เกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โอกาสและแนวทางการเลี้ยงไก่พื้นเมืองเพื่อสร้างอาชีพ เป็นการนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมมาบูรณาการกระตุ้นให้เกษตรกรพึ่งตนเอง เพิ่มเติมหลักวิชาการด้านการคัดเลือกและเพาะขยายพันธุ์ไก่พื้นเมือง เพื่อช่วยให้การผลิตไก่พื้นเมืองมีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของตลาด โดยปัจจัยสำคัญต่อการผลิตไก่พื้นเมือง ได้แก่ พันธุ์ อาหาร การจัดการ และการสุขาภิบาล ในการนี้ได้มีการสำรวจและร่วมพัฒนาโรงเรือนเลี้ยงไก่ให้มีความเหมาะสมของสมาชิกแต่ละราย ซึ่งโครงการกาฬสินธุ์โมเดล (Kalasin Model) เป็นโครงการที่พาเกษตรกรลงมือทำโดยใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายมีรายได้เพิ่มอย่างน้อย 10,000 บาท /เดือน โดยไม่รอ ไม่ขอ ลุกขึ้นมาทำเอง