วิถีชีวิต

หนองบัวลำภู สภาวัฒนธรรมฯ สืบสานมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นประเพณีบุญข้าวสาก ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย“ ศรีบุญเรือง เมือง 4 ดี “

วันที่ 30 ก.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศประเพณีการทำบุญข้าวสาก ภายในศาลาการเปรียญวัดสุวนาราม บ้านโคกล่าม ต.นากอก อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งเป็นประเพณีบุญข้าวสาก วัฒนธรรมประเพณีสำคัญของชาวอีสาน ที่วันนี้จะมีคนเฒ่าคนแก่จูงลูกจูงหลานและคนในครอบครัวหิ้วตระกร้า

พร้อมข้าวสากที่ห่อใบตองซึ่งภายในห่อข้าวสากจะมีอาหารเป็นของหวานและของคาว พร้อมหมากพูลบุหรี่เดินทางเข้าวัดกันเป็นจำนวนมาก เพื่อร่วมทำบุญอุทิศหาญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งสภาวัฒนธรรมวัฒนธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู และ สภาวัฒนธรรมอำเภอศรีบุญเรือง ตระหนักและเห็นความสำคัญของวันดังกล่าว โดยในภาคเช้าจะมีการทำบุญตักบาตร ถวายภัตราหารแด่พระสงฆ์ตามประเพณี จึงจัดให้มีขึ้นในวันนี้

โดยมีนายเพทาย จรกระโทก นายอำเภอศรีบุญเรือง เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการทำบุญข้าวสาก พร้อมกับ นางศรัณยา สุวรรณพรหม ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู นางบัวแพง มุกขะกัง รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู นายวุฒิพงษ์ นิลนามะ นายก อบต.นากอก นางรุจิรา จรกระโทก ประธานแม่บ้านมหาดไทย อำเภอศรีบุญเรือง นายอิ๊ต รัศมีเดือน ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอศรีบุญเรือง นางวิรัตน์พร เลิศอุดมโชคผอ.โรงเรียนบ้านห้วยหว้านาแพง คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู และชาวบ้านกว่า 200 คน

ในขณะเดียวกันสภาวัฒนธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู ได้เชิญศิลปินพื้นบ้านอดีตนางเอกหมอลำรุ่งทิวาอำนวยศิลป์ และรางวัลโล่พระราชทานฯการประกวดหมอลำแห่งประเทศไทย”อรวรรณ รุ่งเรือง” เจ้าของผลงานลำเรียกวิญญาณมารับข้าวสาก มาสร้างสีสันท่ามกลางชาวบ้านที่มารับฟังต่างน้ำตาคลอ

จากนั้นนายอำเภอศรีบุญเรือง พร้อมประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู นำห่อข้าวสาก ซึ่งมีลักษณะห่อด้วยใบตองกล้วย เอาไม้กลัดหัวกลัดท้าย มีรูปลักษณ์คล้ายๆ กลีบข้าวต้ม แต่ไม่พับสันตองเหมือนการห่อข้าวต้ม แล้วเย็บติดกันเป็นชุดๆ ภายในห่อนั้น บางห่อบรรจุหมาก พลู บุหรี่ ข้าวต้ม ข้าวสาร ปลา เนื้อซึ่งแต่ละห่อนั้นไม่ซ้ำกัน แล้วนำไปแขวนหรือห้อย หรือวางไว้ตามต้นไม้ หรือรั้วบริเวณวัด

พร้อมให้สัญญาณป่าวร้องให้เปรต หรือวิญญาณ ของญาติผู้ที่ล่วงลับไปมารับเอา โดยเฉพาะสัมภเวสี คือ ผู้แสวงหาที่เกิดมารับส่วนบุญที่มีการอุทิศหาในวันนี้ ในขณะที่ชาวบ้านต่างนำข้าวสากไปจัดวางไว้บริเวณหน้าธาตุเจดีย์บรรจุอิฐของบรรพชน และตามต้นไม้ ก่อนที่จะนำไปเลี้ยงผีตาแฮกตามท้องทุ่งหัวไร่ปลายนา เพื่อความอุดมสมบูรณ์ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณากาล

สำหรับตำนานบุญข้าวสาก จึงเป็นมรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สั่งสมมานาน ทั้งเพื่อสืบสานมรดกทางภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สั่งสมมานาน ให้เยาวชนลูกหลานได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้ร่วมกันสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมและประเพณีบุญข้าวสาก ให้คงอยู่สืบไป พร้อมร่วมสืบสานงานบุญประเพณีปลอดเหล้า(1งานบุญประเพณี 1 งานบุญปลอดเหล้า) และร่วมขับเคลื่อนนโยบาย ศรีบุญเรือง เมือง 4 ดี

การดำเนินการตามโครงการดังกล่าว สภาวัฒนธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู และสภาวัฒนธรรมอำเภอศรีบุญเรือง ขอบคุณ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้อนุมัติโครงการดังกล่าว พร้อมคณะสงฆ์อำเภอศรีบุญเรือง ที่ทำการปกครองอำเภอศรีบุญเรือง ภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดหนองบัวลำภู สมัชชาสุขภาพจังหวัดหนองบัวลำภู ตลอดพุทธศาสนิกชนในเขตอำเภอศรีบุญเรือง ที่วันนี้ได้ร่วมกันสืบสาน รักษา ประเพณีบุญข้าวสาก ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาของท้องถิ่นให้คงอยู่คู่ชาติไทย ตราบนานเท่านาน