วิถีชีวิต

จำเป็นต้องทำ ชาวนาเสี่ยงดวงสู้ภัยแล้งสูบน้ำก้นคลองทำนาปรัง

ชาวนาในเขตใช้น้ำชลประทานลำปาว  จังหวัดกาฬสินธุ์ วางระบบท่อส่งน้ำ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำจากก้นคลองลงพื้นที่นา เพื่อทำนาปรังหรือนาฤดูแล้ง หลังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวปิดการส่งน้ำ  โดยชาวนาระบุเป็นการทำนาปรังที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง  แต่จำเป็นต้องทำเพราะขายข้าวนาปีขาดทุน  คาดหวังถึงช่วงขายผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังราคาจะสูงขึ้น

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพ ของประชาชนใน จ.กาฬสินธุ์ ช่วงฤดูหนาวคาบเกี่ยวฤดูแล้ง พบว่าในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในเขต ต.บัวบาน  ต.นาเชือก  ต.ดอนสมบูรณ์  อ.ยางตลาด และ ต.ลำพาน ต.หลุบ อ.เมืองกาฬสินธุ์ เริ่มลงมือทำนาปรังกันแล้ว โดยมีการวางระบบท่อหมุนเวียนน้ำ  ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และทำการจ้างรถไถปรับพื้นที่กันอย่างคึกคัก

นายโสน (สะ-โหน)  ภูนาชัย อายุ 60 ปี ชาวนาหมู่ 19 บ้านตูม ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า พื้นที่นาอยู่ในเขตใช้น้ำชลประทานลำปาวหรือเขื่อนลำปาว  ปีใดที่ปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาวมาก ก็จะได้รับน้ำที่ทางโครงการชลประทานระบายออกมาอย่างเต็มที่  โดยมีคลองไส้ไก่เชื่อมจากคลองสายใหญ่ สามารถเปิดรับน้ำเข้าพื้นที่นาได้สะดวก  แต่ฤดูกาลทำนาปรังปีนี้  เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนมีน้อยและอยู่ในช่วงปิดการส่งน้ำ เพื่อทำการซ่อมแซมคูคลองตามปฏิทินปฏิบัติ  เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการทำนาปรัง  ซึ่งเป็นอาชีพหลักของตน  จึงได้นำสมาชิกในครัวเรือน ช่วยกันวางระบบท่อ ตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อสูบน้ำจากก้นคลองไส้ไก่เข้าใส่พื้นที่ทำนาปรัง โดยมีการปรับหน้าดินหรือพื้นที่ทำนาให้ราบเสมอกัน เพื่อให้ต้นข้าวได้รับน้ำอย่างทั่วถึง  ทั้งนี้ เป็นการลงทุนที่สูงพอสมควร เพราะต้องซื้อทั้งท่อพีวีซี  น้ำมันสูบน้ำ ค่าจ้างรถไถและปรับเกรดพื้นที่นา

นายโสนกล่าวอีกว่า เนื่องจากการทำนาเป็นอาชีพหลัก  ถึงแม้จะเสี่ยงกับภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง หากมีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวไม่เพียงพอ หรือเกิดโรคระบาด และเสี่ยงกับการขาดทุน หากราคาข้าวตกต่ำ ก็จำเป็นต้องทำเพราะยังดีกว่าจะปล่อยพื้นที่นาให้รกร้าง ไม่เกิดมูลค่า  ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดขั้นตอนการทำนาและลดทุนการผลิต ง่ายต่อการดูแลรักษาต้นข้าวให้งอกงาม  จึงทำนาหว่าน ประหยัดรายจ่ายกว่าทำนาดำ ซึ่งจะต้องจ้างแรงงานทั้งถอนกล้าและปักดำ  โดยก่อนหว่านได้คลุกเมล็ดพันธุ์ข้าวกับสารอินทรีย์ชีวภาพ เพื่อให้เมล็ดงอกเร็ว ต้นกล้าแข็งแรง  เพลี้ย แมลงหรือศัตรูข้าวไม่รบกวน ต้นข้าวไม่ล้ม ซึ่งข้าวจะได้ผสมเกสรอย่างเต็มที่ ได้รวงยาว เมล็ดโต น้ำหนักดี ทั้งนี้ คาดหวังจะได้กำไรจากการขายข้าวเปลือกนาปรัง หลังจากที่เพื่อนบ้านและญาติที่เป็นชาวนาหลายคน ขายข้าวนาปีขาดทุน  เพราะราคาตกต่ำมาก  อย่างไรก็ตาม สำหรับตนคิดว่า หากแหล่งรับซื้อผลผลิตข้าวเปลือกให้ราคาอย่างน้อยตันละ  12,000 บาท  ชาวนาก็ยังเสี่ยงกับการขาดทุน เพราะมีรายจ่ายหรือต้นทุนการผลิตหลายอย่าง หลายขั้นตอน ทั้งค่าเมล็ดพันธุ์ ค่ารถไถ ค่าสูบน้ำ ค่าขนส่ง รวมแล้วสูงมาก แต่หากรับซื้อตันละประมาณ 15,000 บาท ชาวนาก็พอจะมีกำไร