วิถีชีวิต

ขอนแก่น กระทรวงวัฒนธรรม ชูงานเทศกาลไหมฯ ขอนแก่น เป็นหนึ่งในงาน Thailand Winter Festival ของประเทศยกระดับ Soft Power จังหวัดสู่นานาชาติ สร้างรายได้ส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจอีสาน

ที่เวทีสภาวัฒนธรรม ภายในงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีปลูกเสี่ยว งานกาชาดจังหวัดขอนแก่น และงานขอนแก่น Soft Power ประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน- วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี ที่ สนามศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายเสริมศักดิ์ พงษ์พาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดกิจกรรมส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาสู่ Soft Power จังหวัดขอนแก่น โดยมีผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารจังหวัดขอนแก่น กงสุลใหญ่และกงสุลกิตติมศักดิ์ สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่น วัฒนธรรมจังหวัดและเครือข่ายสภาวัฒนธรรมในภาคอีสาน และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้าร่วมงาน จำนวนมาก

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า รัฐบาลไว้วางใจให้กระทรวงวัฒนธรรม เป็นกระทรวงที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนได้อาชีพ มีงานทำ มีรายได้ แก้ปัญหาความยากจน ตามแผนการขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power โดยใช้ Soft Power ที่มีอยู่ นำคุณค่า Soft Power ทางวัฒนธรรมที่มีอยู่มาเพิ่มคุณค่าไปสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามนโยบายวัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ ที่นำเอาภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม มาทำให้เกิดรายได้ เริ่มจากการส่งเสริมเพิ่มพูนทักษะทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างอาชีพสร้างงานสร้างรายได้ตามแผนการขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power ซึ่งในงานเทศกาลไหมฯ ซึ่งเป็นงานเทศกาลประจำปีของจังหวัดขอนแก่น  มีการชูอัตลักษณ์ผ้าไหมและประเพณีผูกเสี่ยว หนึ่งเดียวในภาคอีสาน

ซึ่งอุตสาหกรรมแฟชั่นคือผ้าไหม ผ้าทอคุณภาพ และอุตสาหกรรมดนตรีที่ได้ชื่อว่าขอนแก่น “เมืองหมอแคนแดนหมอลำ” ซึ่งผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม ถือเป็น Soft Power สำคัญ ที่จะต้องผลักดันต่อยอดให้เป็นเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ทั้งผู้ผลิต ผู้ออกแบบ ผู้ตัดเย็บ และผู้ค้า ซึ่งจะช่วยสร้างอาชีพสร้างการมีงานทำ นอกจากนี้ “ประเพณีผูกเสี่ยว” ถือเป็นประเพณีที่ดีงามเก่าแก่ของไทย นอกจากจะทำให้เกิดความรักความสามัคคีกันแล้ว คนที่มาเที่ยวงานจะได้ร่วมต่อยอด ในเชิงด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนา ในการที่จะส่งเสริมหมอลำ ให้เป็น "มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้" ในปี 2567 ซึ่งมีประชาชน จากสมาคมหมอลำทั่วประเทศ และศิลปินหมอลำทั่วภาคอีสานมาประชุมร่วมกัน เพื่อหาแนวทางในการเสนอ ให้ "หมอลำ" เป็นมรดกโลก ได้รับการพิจารณาโดยเร่งด่วนต่อไปด้วย