วิถีชีวิต

ขอนแก่น จัดใหญ่แข่งเรือ 7 ฝีพายสนุกได้ไร้แอลกอฮอล์ ขณะชุมชนส่งทีมเรือเข้าร่วมแข่งขันเนืองแน่น “พงศ์ธร” เผยเตรียมจัดอีเว้นท์ทุกเดือน กระจายทุกหมู่บ้านคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมประจำถิ่น สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 17 ธ.ค. 2566 ที่ลำห้วยพระคือ บ.พระคือ ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายประจวบ รักแพทย์ รักษาการปลัดจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดการแข่งขันเรือพาย ต.พระลับ ประจำปี 2566 ซึ่งเทศบาลตำบลพระลับ ร่วมกับ ชาวชุมชนในพื้นที่ได้กำหนดจัดกิจกรรมขึ้น โดยมีนายพงศ์ธร พิศาพิทักษ์กุล นายก ทต.พระลับ,นายวงศ์วัฒน์ วรพันธ์ ประธานสภา ทต.พระลับ,นายสุขสันต์ โยคุณ ผญบ.บ้านพระคือ ,นายไพรวิทย์ บันเทา ผญบ.บ้านหนองแสง และนายวิลาศ สีละพันธ์ ปลัด ทต.พระลับ นำชาวชุมชนจากทั้ง 19 หมู่บ้านในเขต ต.พระลับ เข้าร่วมแข่งขันและร่วมกิจกรรมต่างๆที่เทศบาลฯได้กำหนดไว้อย่างสนุกสนาน

นายพงศ์ธร พิศาพิทักษ์กุล นายก ทต.พระลับ กล่าวว่า การแข่งขันเรือพายประเภท 7 ฝีพาย เป็นกิจกรรมประจำปีของ ต.พระลับ ที่ยึดถือและปฎิบัติมาอย่างต่อเนื่องทุกปี หลังสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งแสดงถึงอัตลักษณ์และวิถีชุมชนคนพระลับ ที่ร่วมใจกันจัดกิจกรรมขึ้นแบบสนุกได้ไร้แอลกอฮอลล์ โดยปีนี้มีทีมเรือพายจากหมู่บ้านต่างๆสมัครเข้าแข่งขันในประเภทเรือพาย 7 ฝีพายทั้งสิ้น 20 ทีมแยกเป็นประเภททีมชาย 13 ทีมและทีมหญิง7 ทีม

“เป็นที่รู้กันว่าหลังสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปีประจำปี คนพระลับจะจัดกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายและสร้างความสนุกสนาน สมัครสมานสามัคคีในพื้นที่อย่างอบอุ่นด้วยการส่งทีมเรือประชันฝีพายกันทุกปี โดยเทศบาลฯได้ให้การสนับสนุนและคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมประจำถิ่นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกิจกรรมชุมชนที่เทศบาลฯพร้อมสนับสนุนทุกหมู่บ้าน และทุกชุมชนตามแผนงานที่กำหนดไว้”

นายพงศ์ธร กล่าวต่ออีกว่า การจัดงานของตำบลพระลับ จะทราบกันดีว่าทุกกิจกรรมของเรานั้นปลอดแอลกอฮอลล์อย่างเด็ดขาดซึ่งชุมชนก็ให้ความร่วมมืออย่างเข้มงวด เพราะเทศบาลฯย้ำชัดเสมอว่า งานประเพณีของท้องถิ่นของคนพระลับ จะปลอดเหล้า ปลอดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ ปลอดอบายมุข เน้นหนักกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมขนในกิจกรรมของท้องถิ่นทุกประเภท จนทำให้บุญแข่งเรือปลอดเหล้าของคนพระลับ เป็นการ สร้างภาพลักษณืที่ดีให้ชุมชนและ ทางอำเภอ อีกด้วย อย่างไรก็ตามแผนงานในปี 2567 เทศบาลฯมุ่งเน้นการจัดกิจกรรมในชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมร่วมกันในพื้นที่ และคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของคนตำบลพระลับและที่สำคัญยังคงเป็นการสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับชุมชนของแต่ละหมู่บ้านอีกด้วย