วิถีชีวิต

ยโสธร ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอกถวายเป็นพุทธบูชาก่อนวันมาฆบูชา

ชาวตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ร่วมกันจัดงานประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลกที่ชาวตำบลฟ้าหยาดพากันยึดถือปฏิบัติและสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษและเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรมยังได้คัดเลือกให้ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอกเป็น 1 ใน 16 ประเพณีที่จะยกระดับสู่ระดับชาติและนานาชาติ

นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชกาจังหวัดยโสธร เป็นประธานในพิธีเปิดงานพร้อมกับได้ร่วมเดินนำขบวนแห่มาลัยข้าวตอก ประจำปี 2567 ของอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร โดยชาวบ้านตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดงานประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก ประจำปี 2567 ขึ้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ที่ชาวตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ได้ถือปฏิบัติสืบทอดมายาวนานให้คงอยู่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้และมีความภาคภูมิใจ พร้อมทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวงานประเพณีของอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายอีกด้วย และเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรม ยังคัดเลือกให้ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก จังหวัดยโสธร เป็น 1 ใน 16 ประเพณี ที่จะยกระดับสู่ระดับชาติและนานาชาติต่อไป

ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก เป็นประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติและสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เพื่อนำมาลัยข้าวตอกไปถวายพระเป็นพุทธบูชาในวันมาฆบูชา โดยชาวบ้านในชุมชนต่างพากันนำมาลัยข้าวตอกที่ทำขึ้นเองอย่างสวยงามนำเข้าร่วมขบวนแห่ไปตามถนนในเขตเทศบาลตำบลฟ้าหยาด ก่อนที่จะนำไปถวายพระและแขวนไว้ในศาลาการเปรียญ วัดหอก่อง อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร จนถึงวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งเป็นวันอัฎฐมีบูชาเป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พวงมาลัยข้าวตอกก็จะถูกปลดลงมาไปเป็นอาหารของปลาและสัตว์น้ำชนิดอื่นๆต่อไป โดยในสมัยก่อนการแห่มาลัยข้าวตอก ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของมาลัยจะนำมาลัยของตนเองมารวมกันไว้ตามที่นัดหมาย ซึ่งเจ้าของจะใช้ไม้ไผ่ลำยาวเพื่อยกหรือชูมาลัยให้สูงจากพื้นดินจะได้ไม่ห้อยติดพื้นดิน เพราะสิ่งของที่จะเป็นพุทธบูชาถือว่าเป็นของสูงค่ายิ่งนัก ในขบวนแห่นอกจากพวงมาลัยข้าวตอกและพวงมาลัยเส้นด้ายแล้ว ยังมีพานพุ่มที่จัดเป็นพุ่มเงิน พุ่มทองและพุ่มดอกไม้ที่จัดประดับตกแต่งด้วยเงินสิ่งของและปัจจัยไทยธรรมที่ประสงค์จะทำบุญตามกำลังศรัทธาของแต่ละคน ซึ่งในปีนี้มีขบวนแห่มาลัยข้าวตอกจากชุมชนต่างๆในเขตตำบลฟ้าหยาด จากองค์กรหน่วยงานราชการ และจากทุกตำบลในเขตอำเภอมหาชนะชัย ส่งขบวนแห่มาลัยเข้าร่วมแห่ในครั้งนี้ จำนวน 24 ขบวน ท่ามกลางนักท่องเที่ยวและประชาชนที่ไปร่วมชมความสวยงามของมาลัยข้าวตอกเป็นจำนวนมาก โดยพุทธศาสนิกชนร่วมเดินขบวนแห่มาลัยข้าวตอกจากบริเวณด้านหน้าที่ว่าการอำเภอมหาชนะชัยไปจนถึงวัดหอก่อง ในเขตเทศบาลตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร แล้วนำมาลัยข้าวตอกไปถวายพระที่วัดหอก่อง เป็นเสร็จพิธี

ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอกเป็นประเพณีที่ชาวบ้านในตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ยึดถือปฏิบัติและสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาก่อนวันมาฆบูชา 1 วัน และเป็นประเพณีที่จัดขึ้นเฉพาะที่บ้านฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร เท่านั้น จัดขึ้นในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าแทนดอกมณฑารพ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นดอกไม้แห่งสรวงสวรรค์ ที่หล่นลงมายังโลกมนุษย์เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้และปรินิพาน แต่ปัจจุบันดอกมณฑารพไม่มีแล้วชาวบ้านจึงต้องใช้ข้าวตอกแทนเพราะเชื่อว่าข้าวตอกเป็นสิ่งบริสุทธิ์โดยชาวบ้านจะนำข้าวตอกมาร้อยเป็นมาลัยแล้วแห่ไปถวายพระ จนกลายเป็นประเพณีของชาวอำเภอมหาชนะชัย

ตามตำนาน เล่าว่า ดอกมณฑารพ ซึ่งเป็นดอกไม้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีความสวยงามและมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ เมื่อถึงกาลเวลาที่ดอกมณฑารพจะบานและร่วงหล่นก็ด้วยเหตุการณ์สำคัญๆ คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน จาตุรงคสันนิบาทและทรงแสดงพระธัมมจักรกัปวัตนสูตร ดอกมณฑารพจึงได้ร่วงหล่นลงมายังโลกมนุษย์ ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันปรินิพพานที่เมืองกุสินารา ดอกมณฑารพนี้ก็ได้ร่วงหล่นลงมาทั้งก้านและกิ่ง เปรียบเหมือนความเสียอกเสียใจพิไรรำพันต่อการเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า รวมถึงเหล่าพระภิกษุผู้ได้ชื่อว่าอรหันตขีนาสพทั้งหลาย ด้วยข่าวการเสด็จดับขันปรินิพพานได้แพร่ขยายออกไปในหมู่เหล่าข้าราชบริพารประชาชนทั้งหลายได้พากันมาถวายสักการะพระบรมศพของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความซาบซึ้งในพระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณอีกทั้งยังได้พากันเก็บเอาดอกมณฑารพที่ร่วงหล่นลงมาเพื่อไปสักการะบูชาและรำลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปดอกมณฑารพที่เก็บมาสักการบูชาเริ่มเหี่ยวแห้งและหมดไป เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมทั้งเหตุการณ์ในวันสำคัญต่างๆจึงได้พากันนำเอาข้าวตอกมาสักการบูชา เพราะถือว่าข้าวเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและเป็นของสูงที่มนุษย์จะขาดไม่ได้ การจัดข้าวตอกดอกไม้ถวายเป็นพุทธบูชามีจุดเริ่มต้นเมื่อไหร่นั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่าแรกๆจะใส่พานไว้โปรยเวลาพระสงฆ์เทศนา ต่อมาจึงมีการนำมาประดิษฐ์ตกแต่งที่เห็นว่าสวยงาม