วิถีชีวิต

นครพนม สานพลังเครือข่ายขับเคลื่อน “นครพนม สร้างสังคมอุดมสุข ทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน” ประจำปี 2566 พื้นที่อำเภอนาแก

วันที่ 27 พฤษภาคม 2566 เวลา 08.45 น. ณ บ้านเลขที่ 56 หมู่ที่ 3 บ้านนามน ตำบลนาเลียง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นางสงวน จันทร์พร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนม นายสมลักษ์ ยกน้อยวงษ์ ปลัดจังหวัดนครพนม นายชัยณรงค์ กาญจะนะกันโห พัฒนาการจังหวัดนครพนม หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดและอำเภอ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลงพื้นที่เยี่ยมครัวเรือนยากจนตามโครงการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง “นครพนม สร้างสังคมอุดมสุข ทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน” ประจำปี 2566 เพื่อรับทราบปัญหาความต้องการและพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามสภาพปัญหา

โดยครัวเรือน นายซุ้น วงค์ศรีชา อายุ 74 ปี บ้านเลขที่ 56 หมู่ที่ 3 บ้านนามน ตำบลนาเลียง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม อาศัยอยู่กับลูกชาย นายเผดจ วงค์ศรีชา อายุ 45 ปี สภาพปัญหาของครัวเรือน นายซุ้น วงค์ศรีชา หัวหน้าครัวเรือน เป็นผู้สูงอายุ เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เครื่องอุปโภค/บริโภคในการดำรงชีพไม่เพียงพอ บริเวณห้องน้ำ และห้องครัวต้องปรับปรุง ให้ถูกสุขลักษณะ ส่วนบุตรชาย เป็นผู้ป่วยจิตเวช เป็นผู้พิการ ไม่สามารถทำงานได้ โดยหน่วยงานที่ลงพื้นที่ได้ร่วมให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น มอบเงินสงเคราะห์ เครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่มเมล็ดพันธุ์/ต้นพันธุ์ผักสวนครัว

นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้ให้คำแนะนำแก่ครัวเรือน พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่ร่วมลงพื้นที่ช่วยเหลือครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้แผนครัวเรือนเป็นเครื่องมือดำเนินงาน ให้อำเภอบ้านแพงให้ความช่วยเหลือการลดรายจ่ายครัวเรือน สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนม และ อบต.นาเลียง ประสานและสนับสนุนงบประมาณการสร้างห้องน้ำแก่ครัวเรือน

สำหรับโครงการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง “นครพนม สร้างสังคมอุดมสุข ทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน” ประจำปี 2566 มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของครัวเรือนเป้าหมายที่ประสบความเดือดร้อนและยากจน ประกอบด้วย ครัวเรือนไม่ผ่านเกณฑ์ จปฐ. ปี 2565 ด้านรายได้ ข้อ 22 (รายได้เฉลี่ย 40,000 บาท/คน/ปี) ครัวเรือนจากระบบการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ปี 2565 ครัวเรือนเปราะบาง และครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเวทีประชาคม ทั้ง 5 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ ด้านการศึกษา ด้านรายได้ และด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ โดยบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง