วิถีชีวิต

ชาวตำบลเหนือร่วมสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟแห่นางแมวขอฝน

ชาวตำบลเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ร่วมสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟแห่นางแมวขอฝนพญาแถน ดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ตามความเชื่อของชาวอีสานที่สืบสานมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยสีสันอยู่ที่การใช้ตุ๊กตาแมว แทนการใช้แมวจริงเพื่อไม่ให้เป็นการทรมานสัตว์ ท่าม กลางเสียงหัวเราะเฮฮาของประชาชน และนักท่องเที่ยว ที่มาเที่ยวงานอย่างเนืองแน่น

วันที่ 28 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณวัดเศวตวันวนาราม ต.เหนือ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ว่าที่ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 พรรคเพื่อไทย เป็นประธานเปิดงานสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟของชาวตำบลเหนือ ประจำปี 2566  โดยมีนายวัญณวัช จุลบุรมย์ นายกเทศมนตรีตำบลเหนือ ส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารสถานศึกษา ประชาชน เยาวชน  จัดริ้วขบวนแห่บั้งไฟพื้นบ้าน พร้อมขบวนนางรำ ขบวนแฟนตาซีแสดงวิถีชุมชน ที่สร้างสีสันที่สุดคือขบวนแห่นางแมว ของผู้สูงอายุและเยาวชน โดยมีการแห่เซิ้งไปรอบๆบริเวณจัดงาน เรียกเสียงหัวเราะเฮฮาให้กับผู้ร่วมงาน และนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นประเพณีเก่าแก่ แต่ปัจจุบันหาดูยาก และนับวันจะเลือนหาย เพิ่งจะมาพบเห็นในขบวนแห่บั้งไฟในวันนี้

นายวิรัช พิมพะนิตย์ ว่าที่ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า บุญบั้งไฟหรือบุญเดือนหก เป็นหนึ่งในฮีต 12 คอง 14 ของชาวอีสาน ที่มีการสืบสานมาตั้งแต่สมัยโบราณ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นบุญประเพณีขอฝนกับพญาแถน สิ่งศักดิ์สิทธ์แห่งฝนตามคติความเชื่อ ซึ่งจะมีการจัดริ้วขบวนแห่ ประกอบด้วยขบวนบั้งไฟ ขบวนนางรำ ขบวนเซิ้งบั้งไฟขบวนแสดงวิถีชีวิตของชาวบ้าน จากนั้นมีการจุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้า เพื่อเป็นเป็นการส่งสัญญาณถึงพระกรรณพญาแถนให้รู้ว่า ถึงฤดูฝนแล้ว เพื่อดลบันดาลให้ตกลงมาตามฤดูกาล เพื่อที่จะมีน้ำทำการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวอีสาน  และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค หล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ธัญญาหารให้บริบูรณ์ ทั้งนี้ ขอชื่นชมชาวตำบลเหนือ ที่ร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งเดียวกันจัดงานครั้งนี้ แสดงถึงพลังความรัก ความสามัคคี ถือเป็นตำบลต้นแบบในการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามให้คงอยู่สืบไป

ด้านนายวัญณวัช จุลบุรมย์ นายกเทศมนตรีตำบลเหนือ กล่าวว่า การจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟของชาวตำบลเหนือ 12 หมู่บ้าน จัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ก่อนที่จะว่างเว้นไปในช่วงสถานการณ์โควิด-19  ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นการร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามแล้ว  ยังเป็นการให้กำลังใจเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพในฤดูฝน นอกจากนี้ยังเป็นการฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อปลูกฝังค่านิยมความเป็นไทย เกิดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และภูมิปัญญาการประดิษฐ์บั้งไฟเพื่อจุดขึ้นฟ้า รวมทั้งการเซิ้งบั้งไฟ และแห่นางแมว ที่นับวันจะเลือนหาย หากไม่มีการอนุรักษ์และสืบสาน

โดยกิจกรรมในงานบุญบั้งไฟเทศบาลตำบลเหนือประจำปี 2566 ประกอบด้วยขบวนแห่บั้งไฟ การประกวดฟ้อนรำบวงสรวงพญาแถน การประกวดท้าวผาแดง-นางไอ่ การแข่งขันจุดบั้งไฟขึ้นสูง ที่สร้างสีสันและเสียงหัวเราะเฮฮาที่สุดคือ ขบวนเซิ้งนางแมว  โดยกลุ่มผู้สูงอายุและเยาวชน ซึ่งล้อเลียนการแห่นางแมวในสมัยโบราณ โดยการใช้ตุ๊กตาแทนแมวตัวจริง  เพื่อไม่ให้เป็นการทรมานสัตว์

ทั้งนี้ คนไทยเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ มีอำนาจลึกลับ และเป็นสัตว์ที่มีสีเดียวกับเมฆ เช่น แมวสีสวาด เมื่อนำมาประกอบพิธีแห่นางแมวสามารถเรียกฝนให้ตกลงมาได้ ขณะที่ชาวอีสานมีความเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์ที่เกลียดฝน ถ้าฝนตกครั้งใดแมวจะร้องทันที จึงถือเป็นเคล็ดว่าถ้าแมวร้อง จะเป็นเหตุให้ฝนตกลงมา  ชาวบ้านจึงจับแมวใส่กรงหรือชะลอม เอาไม้คานสอดเข้าไปแล้วหามแห่ไปเรื่อยๆ ขณะหามก็จะสาดน้ำใส่แมวเพื่อให้แมวร้อง เป็นอุบายให้ฝนตกลงมา จึงเกิดพิธีแห่นางแมวขึ้น  ซึ่งสมัยก่อนหากปีใดเกิดภาวะฝนแล้ง ชาวบ้านในถิ่นอีสานจะรวมตัวกันจัดขบวนแห่นางแมวขอฝนดังกล่าว แต่ปัจจุบันหาดูยาก ในการจัดขบวนแห่นางแมวโดยกลุ่มผู้สูงอายุและเยาวชนในครั้งนี้ จึงได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก