วิถีชีวิต

กาฬสินธุ์พบเกษตรกรรุ่นใหม่เลี้ยงไส้เดือนทำนานิวนอร์มอล

พบหนุ่มวัย 25 ปี ชาวอำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ อดีตวิทยากร สสส. ทำงานที่กรุงเทพฯแล้วกลับบ้านเกิดช่วงได้รับผลกระทบโควิด-19 พลิกผืนนาที่เคยแห้งแล้ง ธาตุอาหารในดินต่ำ บำรุงดินด้วยไส้เดือน ปลูกพืชสวนพืชไร่ที่ทนกับสภาพแห้งแล้ง จัดทำระบบพุ่งในแปลงนา ขอบคุณโควิดที่ปรับเปลี่ยนชีวิตใหม่ในวิถี New Normal ให้ชีวิตดีขึ้น

ที่เฮือน สวน เฮา บ้านนามน ต.นามน อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ นายธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ เกษตร จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนักวิชาการเกษตร สื่อมวลชน ติดตามผลการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผักนามน ของนายปาฏิหาริย์ มาตสะอาด อายุ 25 ปี ซึ่งมีการต่อยอด จัดทำจุดเช็คอิน ร้านอาหาร โดยนายปาฏิหาริย์ได้นำชมผลการดำเนินงานในสวนที่หลากหลาย ทั้งเลี้ยงไส้เดือนดิน แปลงปลูกดอกกระเจียวหวาน สวนมะนาวและนาข้าวให้ปุ๋ยน้ำทางใบ

นายธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ เกษตร จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลกำหนดให้ จ.กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดนำร่องในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน เพื่อยกระดับรายได้ ทั้งนี้ได้ดำเนินการโครงการ Kalasin Green Market ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมเกษตรและอาหารปลอดภัย ยกระดับรายได้ภาคการเกษตรและพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ภายใต้การแก้ไขปัญหาความยากจนของ จ.กาฬสินธุ์ โดยโครงการดังกล่าว ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกผักรวมกลุ่มกันวางแผนการผลิต การบริหารจัดการผลผลิตและการตลาด ในรูปแบบของสหกรณ์ พืชที่ปลูกมีความหลากหลาย เป็นที่ต้องการของตลาด สามารถขายได้ตลอดทุกฤดูกาล โดยผลผลิตที่ผลิตได้ต้องปลอดภัย มีคุณภาพและได้มาตรฐาน จึงจะทำให้เกิดความยั่งยืน และสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้ในที่สุด
นายธีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร จัดประชุมเกษตรกรกรผู้ปลูกผัก และเชิญชวนเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมปลูกผักปลอดภัยเพื่อการค้า จากนั้นจัดตั้งเป็นกลุ่มปลูกผักปลอดภัย โดย อ.นามน มีสมาชิกแรกเริ่ม 35 คน พื้นที่ปลูกผัก 51 ไร่ จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผักนามน ในปี 2561 มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 53 คน พื้นที่ปลูกผัก 115 ไร่ ต่อมาสมัครเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ คือแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผักนามน ปัจจุบันมีสมาชิก 114 คน พื้นที่ปลูกผักประมาณ 200 ไร่ ในส่วนของแปลงเฮือนนามน ที่โดดเด่นคือเลี้ยงไส้เดือน ปลูกผักกระเจียว และวางระบบสปริงเกอร์ในแปลงนา โดยเป็นการให้ปุ๋ยน้ำทางใบนั้น นับเป็นเกษตรหัวก้าวหน้ารุ่นใหม่ ที่มีความตั้งใจและมีอนาคต สามารถเป็นแบบอย่างเกษตรกรรุ่นใหม่อีกแห่งหนึ่ง

ด้านนายปาฏิหาริย์ มาตสะอาด เจ้าของแปลงเกษตรเฮือน สวน เฮา กล่าวว่า ก่อนที่ตนจะสมัครเป็นสมาชิกแปลงใหญ่ เคยผ่านการศึกษาและทำงานด้านอื่นๆมาก่อน ล่าสุดเป็นวิทยากร ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ทำให้มีเครือข่ายหลายสาขาอาชีพ โดยที่ผ่านมานั้น ถึงแม้ว่าทางครอบครัวจะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ทำสวน แต่ตนก็ไม่เคยลงมือช่วยทำการเกษตรเลย เพราะมุ่งมั่นศึกษาเล่าเรียนและทำงานอย่างเดียว แต่สุดท้ายชีวิตการทำงานดังกล่าวก็เหมือนจะอิ่มตัว และรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ประกอบกับเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทุกอาชีพต่างได้รับผลกระทบกันหมด จึงตัดสินใจจากการทำงานที่กรุงเทพฯกลับบ้านเกิด เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ในวิถีเกษตรกรรมธรรมชาติตามยุค New Nomal

นายปาฏิหาริย์ กล่าวอีกว่า พอกลับมาอยู่บ้านทราบว่าทางเกษตรอำเภอนามน เชิญชวนเกษตรกรร่วมโครงการแปลงใหญ่ สอดคล้องกับที่ทาง ผวจ.กาฬสินธุ์ รณรงค์ปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนค่าครองชีพ และป้องกันปัญหาขาดแคลนหลังได้รับผลกระทบโควิด-19 ตนจึงขออนุญาตพ่อแม่ สมัครเป็นสมาชิกแปลงใหญ่ ใช้พื้นที่ประมาณ 11 ไร่ ทำการเกษตรผสมผสาน นาข้าว 6 ไร่ นอกนั้นเป็นบ่อกักเก็บน้ำฝนและพืชสวน จากเดิมที่ปลูกมะนาวอยู่แล้ว ก็ต่อยอดด้วยการปลูกกระเจียวหวาน และเสริมด้วยพืชผักสวนครัวชนิดต่างๆ ช่วงแรกๆพืชเติบโตช้า เนื่องจากสภาพดินมีค่อยมีคุณภาพ จากการตรวจสอบพบสารอาหารในดินต่ำ และเป็นดินทรายผสมหินกรวด

จากการที่เคยทำงานหลายแห่งดังกล่าว ซึ่งเคยเดินทางไปศึกษาดูงานหลายพื้นที่ จึงได้นำความรู้ ประสบการณ์มาประยุกต์ ควบคู่กับศึกษาการทำเกษตรผสมผสานจากยูทูป มาออกแบบเป็นนวัตกรรมเกษตรกรรมธรรมชาติ โดยเริ่มจากเพาะพันธุ์ไส้เดือนดิน ใช้ปุ๋ยคอกและอินทรีย์ชีวภาพ เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ในสวนมะนาว ดอกกระเจียวหวาน และผักสวนครัว ขณะที่แปลงนานั้น 6 ไร่นั่น เนื่องจากเป็นดินทราย ผสมหินกรวด ตนจึงทำนาแบบนาหยอด โดยเป็นข้าวเจ้า กข 15 ลงทุนติดตั้งระบบน้ำพุ่ง โดยทำเป็นแปลงสาธิต 1 ไร่ วางสายยางทั่วแปลงนา เจาะรูเป็นระยะ เพื่อให้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพทางใบ ทำให้ประหยัดน้ำ

นายปาฏิหาริย์กล่าว

นายปาฏิหาริย์ กล่าวในตอนท้ายว่า พอลงมือทำการเกษตรในยุค New Nomal ซึ่งเป็นการทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ทำให้รู้สึกสนุก ท้าทาย ทำให้เกิดรายได้ทุกวัน ซึ่งต้องขอบคุณโควิดที่ปรับเปลี่ยนชีวิตใหม่ในวิถี New Normal ให้ชีวิตดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เดิมเกษตรกรในพื้นที่นี้จะผลิตข้าวได้ไร่ละประมาณ 100 กก. สำหรับตนตั้งเป้าผลิตให้ได้ไร่ละ 400-500 กก. ขณะที่นาข้าวในแปลงสาธิต 1 ไร่ ที่ใช้ระบบน้ำพุ่งโดยเป็นการให้ปุ๋ยน้ำทางใบนั้น ตั้งเป้าได้ผลผลิต 1 ตัน