วิถีชีวิต

เกษตรจังหวัดนครพนม พัฒนาเครือข่ายการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการเกษตร แบบมีส่วนร่วม “นำความรู้การเกษตรสู่เกษตรกรในพื้นที่”

วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศูนย์เครือข่าย) ตำบลท่าค้อ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดกิจกรรม พัฒนาเครือข่ายประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการเกษตรแบบมีส่วนร่วม “สู่การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ และต่อยอดสู่เกษตรกรในพื้นที่” ภายใต้โครงการสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและผลิตสื่อในงานส่งเสริมการเกษตร ปี 2566 เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการสื่อสารที่ดีมีการผลิตสื่อที่สร้างสรรค์ และการประชาสัมพันธ์งานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ รวดเร็วตรงกับกลุ่มบุคคลเป้าหมายมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอ ทั้ง 12 อำเภอ และกลุ่มเกษตรกร เข้าร่วมการพัฒนาเครือข่ายในครั้งนี้

นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า การสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่นั้นมีความสำคัญมาก ซึ่งจะทำให้บุคคลทั่วไปได้ทราบถึงการขับเคลื่อนงานตามนโยบายและภารกิจในงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ การแก้ไขปัญหาภาคการเกษตร รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งการปฏิบัติงานในพื้นที่ล้วนแต่ต้องมีการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารในวงกว้าง เพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อและช่องทางต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับเกษตรกร ประชาชน และสื่อมวลชนได้รับทราบถึงข้อมูลข่าวสารและการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ได้เพิ่มมากขึ้น ในส่วนของสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม มีบทบาทภารกิจในการขับเคลื่อนงานตามนโยบาย และความสำเร็จของกลุ่มเกษตรกร รวมทั้งผลการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรที่สำคัญ เช่น การยกระดับและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร มีการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตที่ยั่งยืนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน การส่งเสริมพืชที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด ส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้าเกษตร พร้อมยกระดับเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรโดยมุ่งพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้เป็น Young Smart Farmer, Smart Farmer และวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งการสร้างเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็งให้เกษตรกร เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ รวมถึงยกระดับบทบาทอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) และกลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ ในพื้นที่ ให้เป็นผู้ช่วยงานส่งเสริมการเกษตรที่เกิดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการสื่อสารร่วมกับเจ้าหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นการปรับวิธีการทำงานสู่ New Normal มากขึ้น และเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์มีเครือข่ายที่เข้มแข็งในการประชาสัมพันธ์งานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ ที่เป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ตรงกับกลุ่มบุคคลเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

นอกจากยังมีการจัดทำแผนและวิเคราะห์แผนในการพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารการเกษตรในพื้นที่ ร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาเครือข่ายที่เข้มแข็งและยั่งยืน สามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลไปยังเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีการเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ จากแปลงต้นแบบของนายธนภัทร สีเมฆ ที่มีการปลูกพืชที่หลากหลายในรูปแบบผสมผสาน และการใช้ปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพในการปรับปรุงบำรุงดินทำให้พื้นที่การเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์ และเกิดความยั่งยืนในการจัดการด้านผลผลิตได้อย่างมั่นคงและมีความสุข ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่และเกษตรกรเครือข่ายเกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน ทำให้การประสานงานสามารถเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์กับเกษตรกรในพื้นที่